กกพ. สนับสนุนใช้พลังงานหมุนเวียน พลังงานสีเขียว แต่ยังคงรักษาความมั่นคงทางพลังงานในประเทศ

share to:

Facebook
Twitter

นายกฯ ยินดี หน่วยงานขานรับแนวทาง BCG ที่รัฐบาลผลักดัน ล่าสุด กกพ. สนับสนุนใช้พลังงานหมุนเวียน พลังงานสีเขียว แต่ยังคงรักษาความมั่นคงทางพลังงานในประเทศ

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ขานรับแนวทางการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมตาม BCG

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า เป็นที่น่าชื่นชมการทำงานของทุกหน่วยงานในประเทศที่รับเอาแนวนโยบายของนายกรัฐมนตรี เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมโดยจะพัฒนา เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และ เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน โดย กกพ. มีแนวทางที่จะสร้างกลไกเพื่อเพิ่มการแข่งขันในกิจการพลังงาน ทั้งกิจการก๊าซธรรมชาติที่อาจปรับปรุงโครงสร้างรองรับการแข่งขันพร้อมกับรักษาความมั่นคงด้านพลังงาน โดยสนับสนุนการใช้พลังงานสีเขียว

ทั้งนี้ ในระยะเร่งด่วน กกพ. ให้ความสำคัญกับการใช้เชื้อเพลิงทางเลือก เช่น พลังน้ำ และพลังงานหมุนเวียน และในส่วนระยะยาว จะให้ความสำคัญกับการผลิตพลังงานไฟฟ้า เพื่อรองรับการใช้พลังงานสีเขียวตอบสนองความต้องการภาคธุรกิจการค้า และการลงทุนของภาคเอกชนระหว่างประเทศ ซึ่งมีความต้องการซื้อและได้รับการรับรองการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในการลดอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนจากมาตรการภาษีคาร์บอนข้ามแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) และข้อกีดกันทางการค้าการลงทุนอื่นๆ หนึ่งในกลไกสำคัญได้แก่ ไฟฟ้าสีเขียว หรือ Green Tariff ที่ออกแบบให้มีการขายไฟฟ้าพร้อมใบรับรอง (REC) ที่สามารถระบุที่มาของแหล่งผลิตไฟฟ้าเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียว โดยไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้า

ในส่วนของ โครงสร้างการซื้อขายไฟฟ้าของไทยที่ซื้อขายแบบ Regulated Market นั้น กกพ. มีแนวคิดที่จะนำไฟฟ้าที่ผลิตได้จากการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน แบบ FiT พ.ศ. 2565 – 2573 จำนวน 5,203 เมกะวัตต์ ที่รัฐได้รับสิทธิ์ใน REC มาเป็นองค์ประกอบหลักของ Green Tariff และจะยังมีการขยายผลให้รวมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของ กฟผ. ในอนาคตที่จะมีการผลิตเพิ่มเติมตามแผน PDP และการผลิตไฟฟ้าประเภทอื่นๆ ที่รัฐมีกรรมสิทธิ์ใน REC ให้มารวมอยู่ใน Green Tariff ตลอดจนใน่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านนี้ กกพ. จะส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน เพิ่มมากขึ้นเข้าสู่ระบบไฟฟ้า ส่งเสริมการผลิตพลังงานหมุนเวียนเพื่อใช้เอง และสนับสนุนให้มีพลังงานสีเขียวมากขึ้นในภาคอุตสาหกรรม

“นายกรัฐมนตรียินดีที่ทุกหน่วยงานเห็นประโยชน์จากแนวคิด BCG ที่รัฐบาลได้ผลักดัน เป็นเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า BCG จะเป็นแนวทางการพัฒนาที่สมดุล มีประสิทธิภาพ อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ รัฐบาลได้วางแนวทางการทำงานไว้ในโครงสร้างการพัฒนาประเทศแล้ว และประเทศไทย คนไทย จะได้รับประโยชน์อย่างสูงสุดตามแนวทางการพัฒนาที่ได้วางไว้” นายอนุชาฯ กล่าว

 

ที่มาข้อมูล