ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ร่วมเป็นเกียรติและบรรยายพิเศษ ในงาน “กิจกรรมการบ่มเพาะเพื่อเพิ่มศักยภาพการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสายอาชีวศึกษา Smart Invention & Innovation” ประจำปี 2566
เปิดเผยว่า สอศ. ได้กำหนดวิสัยทัศน์ “ผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูง เพื่อการพัฒนาประเทศ” ซึ่งกระบวนการวิจัยและการสร้างสรรค์นวัตกรรมถือเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาประเทศ โดยที่ผ่านมา สอศ. ได้ดำเนินนโยบายที่ส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมมาอย่างต่อเนื่อง มุ่งเน้นการยกระดับผลงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ ในมิติต่างๆ ทั้งในเชิงชุมชน สังคม ตลอดจนการต่อยอดในเชิงพาณิชย์ เพื่อพัฒนาทักษะความเป็นเลิศ ของผู้เรียนทั้ง Hard Skills และ Soft Skills กล่าวคือ ทั้งในด้านวิชาชีพ ด้านวิชาการ และด้านการดำเนินชีวิต อันจะเป็นปัจจัยสำคัญในการยกระดับผู้เรียนอาชีวศึกษาสู่การเป็นผู้เรียนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูงอาชีวศึกษา
เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวเน้นย้ำต่อว่า สอศ.มีความมุ่งหวังให้ผู้เรียนอาชีวศึกษาต่อยอดนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ทั้งในมิติเชิงกว้างและเชิงลึก โดยคำนึงถึงการพัฒนาผลงานนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ที่สอดคล้องกับบริบทเชิงพื้นที่และสาขาวิชาที่มีความแตกต่างหลากหลายได้อย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมช่าง อุตสาหกรรมเกษตรนวัตกรรม อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมการบิน อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมการแพทย์ ฯลฯ อันจะช่วยยกระดับเศรษฐกิจฐานรากและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
ทั้งนี้ สอศ.และ วช. จึงได้ร่วมจัดวางกลไกและจัดทำกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้เยาวชนและบุคลากรของสถาบันการศึกษาได้พัฒนาศักยภาพบุคลากร ให้มีทักษะและคุณลักษณะที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีของโลก สามารถสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมที่สร้างผลผลิตและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้ โดยมีรูปแบบในการจัดกิจกรรมบ่มเพาะในการบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับหลักการเขียนข้อเสนอโครงการสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม การเปลี่ยนขยะให้เป็นสินค้าด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม ความรู้เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อพัฒนาผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม Creative Thinking for Creative Innovation เทคนิคการนำเสนอผลงาน พร้อมกันนี้ได้มีกิจกรรมแบ่งกลุ่มการฝึกปฏิบัติ ตามเรื่องผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ดังนี้
1. ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร
2. ด้านสาธารณสุข สุขภาพ และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ
3. ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ อุปกรณ์อัจฉริยะ
4. ด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม และ BCG Economy Model
และ 5. ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจสร้างสรรค์
โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรอบรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในการพัฒนาผลงานนวัตกรรมในเวทีระดับชาติและระดับนานาชาติ ซึ่งท่านได้มาให้ความรู้ ความเข้าใจ การสร้างแรงบันดาลใจกับนักศึกษาอาชีวศึกษาเพื่อพัฒนาผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ที่จะเป็นกลไกหนึ่งในการพัฒนากำลังคน ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 หมุดหมายที่ 12 ประเทศไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต โดยเพิ่มกำลังคนคุณภาพรองรับภาค การผลิตเป้าหมาย และพัฒนาระบบนิเวศเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต
ที่มาภาพ/ข้อมูล : https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG230309175909688