‘อลงกรณ์’ เผย กระทรวงเกษตรฯ พร้อมหนุนเทคโนโลยี องค์ความรู้ ผู้เชี่ยวชาญ ให้คำแนะนำ ผลักดันความร่วมมือสู่ความสำเร็จระหว่างประเทศ
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หารือร่วมกับ ดร.สิชา สิงห์สมบุญ กงสุลกิตติมศักดิ์ สาธารณรัฐกานาประจำประเทศไทย และคณะ โดยมี นายณฐกร สุวรรณธาดา คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายจิตติศักดิ์ ศรีปัญญา ผู้อำนวยการกองนโยบายเทคโนโลยีและเกษตรกรรมยั่งยืน สำนักการเกษตรต่างประเทศ ผู้แทนกรมการข้าว กรมชลประทาน กรมประมง สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วม ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (112) สำหรับการประชุมหารือกันในวันนี้มีประเด็นหารือที่สำคัญ อาทิ เศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ โครงการข้าวรักษ์โลก BCG Model ที่เป็นแนวทางการการปฏิวัติการทำนาสู่ความยั่งยืน การพัฒนาสายพันธุ์ข้าวให้มีคุณภาพ รวมถึงความร่วมมือในด้านอื่น ๆ
จากการหารือร่วมกันในวันนี้ ทราบว่าประเทศกานามีนโยบายส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวและเพิ่มผลผลิตภายในประเทศมากขึ้น และมีความสนใจในแนวทางพระราชดำริปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการทำการเกษตรแบบ BCG Model โดยเฉพาะข้าวรักษ์โลกที่ช่วยในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ลดการใช้สารเคมี และยังเป็นแนวทางใหม่ของการทำการเกษตรโลก เนื่องจากกานามีข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีการเกษตร และแรงงานไม่มีความเชี่ยวชาญในด้านเกษตร เกษตรกรรมส่วนใหญ่เป็นแบบดั้งเดิม ยังไม่ได้นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากนัก ไม่นิยมใช้ปุ๋ยทำการเกษตรเพาะปลูก ทำให้คุณภาพและปริมาณผลผลิตต่ำ
นอกจากนี้ ไทยยังพร้อมให้ความร่วมมือในด้านเทคโนโลยี สนับสนุนองค์ความรู้ ผู้เชี่ยวชาญ และสนับสนุนด้านต่าง ๆ ในเรื่องของการผลิตข้าว โดยเฉพาะ “การพัฒนาสายพันธุ์ข้าวให้มีคุณภาพ” ซึ่งเป็นประเด็นที่กานาสนใจ โดยกรมการข้าวและประเทศกานาได้มีการหารือเกี่ยวกับความร่วมมือดังกล่าวกันอย่างใกล้ชิด ซึ่งทั้งสองประเทศจะร่วมมือกันในการแลกเปลี่ยนข้อมูล สนับสนุนด้านวิชาการ เครื่องมือเครื่องจักร และเทคโนโลยีต่อไป เป็นไปตามนโยบายของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ให้ความสำคัญในการสนับสนุนและขยายความร่วมมือด้านการเกษตรกับประเทศคู่ค้าที่สำคัญ
ทั้งนี้ กานายังได้ชื่นชมแนวทางศาสตร์พระราชา ตลอดจนโครงการพระราชดำริต่าง ๆ ซึ่งได้นำไปประยุกต์ใช้พัฒนาในด้านการเกษตร ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ พร้อมให้การสนับสนุน ผ่านโครงการที่ได้ขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center : AIC) โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ โคกหนองนาโมเดล เป็นต้น โดยจะมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมการข้าว กรมชลประทาน กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมพัฒนาที่ดิน และกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อหารือร่วมกับกานา เพื่อศึกษาดูความเป็นไปได้ในความร่วมมือพัฒนาในด้านต่าง ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศ ต่อไป
สำหรับความสำเร็จของโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ มาเป็นแนวทางในการดำเนินงานโครงการโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำสำหรับทำการเกษตร และเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 บรรเทาปัญหาการว่างงาน ลดปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงานภาคการเกษตรกรรมไปสู่ภาคอื่น ๆ และเพื่อให้มีความมั่นคงทางอาหารและเศรษฐกิจ ปัจจุบันโครงการดังกล่าว ได้ดำเนินการผ่านกรมส่งเสริมการเกษตร และ ศพก. ด้านเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งผลการดำเนินโครงการที่ผ่านมา (ตั้งแต่ ก.ค. 63 ถึง ธ.ค. 64) มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 27,117 ราย มีการจ้างงานเกษตรกรและบุตรหลานเกษตรกร 13,529 ราย เกิดการสร้างงานสร้างรายได้ในพื้นที่ มีพื้นที่เกษตรทฤษฎีใหม่ เพิ่มขึ้น 96,215 ไร่ พื้นที่กักเก็บน้ำ เพิ่มขึ้น 68 ล้านลูกบาศก์เมตร มีการส่งเสริมการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เกิดความหลากหลายของชนิดพืช และมีการเกื้อกูลของกิจกรรมด้านพืช ปศุสัตว์ และประมง เกิดการรวมกลุ่มของเกษตรกร เกษตรกรมีรายได้ เพิ่มขึ้น 2,300 บาทต่อครัวเรือน เกษตรกรอยู่ดี กินดี พึ่งพาตนเอง ดังนี้ 1) ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน จากการบริโภคอาหารที่ผลิตได้ 1,456 บาท/ครัวเรือน/ปี และจากการเก็บพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ไว้ทำพันธุ์ 1,854 บาท/ครัวเรือน/ปี 2) ลดค่าใช้จ่ายในการผลิต 1,584 บาท/ครัวเรือน/ ปี 3) ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น 7,332 บาท/ครัวเรือน/ปี และสุดท้าย 4) เกิดความยั่งยืน โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ มีการทำเกษตรทฤษฎีใหม่อย่างต่อเนื่อง และขยายผลองค์ความรู้ไปสู่เกษตรกรรายอื่น ซึ่งฝ่ายกานาที่เป็นประเทศที่ประสบปัญหาความมั่นคงทางอาหารสามารถนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ไปปรับใช้เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารในระดับพื้นที่ได้
กานามีการเติบโตของสังคมเมืองมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น และประชากรมีรายได้เพิ่มขึ้น เฉลี่ยแล้วเป็นอันดับ 3 ของภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก จึงส่งผลให้กานายังต้องการนำเข้าข้าวและสินค้าแปรรูปเป็นจำนวนมาก ซึ่งประเทศไทยเล็งเห็นในศักยภาพของกาน่าเนื่องจากเป็น Hub ในกลุ่มประเทศแอฟริกาตะวันตก จึงเป็นโอกาสทางธุรกิจของไทยในการขยายตลาด ทั้งนี้ ภาพรวมการค้าสินค้าเกษตร กานาเป็นประเทศคู่ค้าสินค้าเกษตรอันดับที่ 74 ของไทย ในระหว่างปี2563 – 2565 มีสัดส่วนการค้าสินค้าเกษตรร้อยละ 0.11 ของมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรของไทยกับโลก โดยในปี 2563 มีมูลค่าการค้าสินค้าเกษตร 2,183 ล้านบาท และในปี 2564 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 2,590 ล้านบาท แต่ในปี 2565 มีมูลค่าลดลงเหลือ 1,729 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรเฉลี่ยปีละ 2,167 ล้านบาท ทั้งนี้ ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้ากับกานามาโดยตลอด สำหรับสินค้าส่งออกเกษตรของไทยไปกานามีสัดส่วนการส่งออกรวมกันถึงร้อยละ 98.37 โดยมีสินค้าเกษตรที่สำคัญ 10 อันดับแรก ได้แก่ ข้าว เครื่องดื่ม เช่น นมยูเอชที นมถั่วเหลือง น้ำมะพร้าว เป็นต้น ปลายข้าว ปลาทูนา ปลาสคิปแจ็ค และปลาโบนิโต (ชนิดซาร์ดา) บรรจุกระป๋อง เต้าหู้ แวฟเฟิลและเวเฟอร์ ขนมที่ทำจากน้ำตาลที่ไม่มีโกโก้ผสม เช่น ลูกกวาด ช็อกโกแลตขาว น้ำมันดิบ สตาร์ชทำจากมันสำปะหลัง และขนมปังกรอบ ส่วนสินค้านำเข้า 10 อันดับแรก มีสัดส่วนการนำเข้ารวมกันถึงร้อยละ 99.88 ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าเกษตรจากกานา ได้แก่ โกโก้เพสต์ไม่เอาไขมันออก ปลาทูนาครีบเหลืองแช่แข็ง ปลาสคิปแจ็ค (ปลาโอท้องแถบ) แช่แข็ง ร็อกลอบสเตอร์และกุ้งหัวโขนอื่น ๆ (ชนิดพาลินูรัส ชนิดพานูลิรัส ชนิดจาซัส) แช่แข็ง ปลาบิกอายทูนา (ทูนนัสโอเบซัส) แช่แข็ง น้ำมันมะพร้าวอื่น ๆ เช่น แฟรกชันของน้ำมันมะพร้าวที่ไม่ทำให้บริสุทธิ์ แพะ ปลามีชีวิตอื่น ๆ เช่น ลูกปลา น้ำมันอิลลิพีนัต และสัตว์น้ำที่ไม่มีกระดูกสันหลังนอกจากสัตว์น้ำจำพวกครัสตาเซียและโมลลุสก์อื่น ๆ
ที่มาภาพ/ข้อมูล : https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/65321