ฟักทองพันธุ์ไข่เน่า พืชอัตลักษณ์เมืองน่าน

share to:

Facebook
Twitter

ฟักทองพันธุ์ไข่เน่า พืชอัตลักษณ์เมืองน่าน

 

ไข่เน่าคือ ชื่อของฟักทองสายพันธุ์ท้องถิ่นที่คนน่านปลูกกันมารุ่นต่อรุ่นนานกว่า 3 ช่วงอายุคน โดยมีการเล่าต่อกันมาถึงที่มาของชื่อว่ามาจากสีของเนื้อฟักทองที่เป็นสีเขียวขี้ม้าแลคล้ายกับไข่เน่า ถึงกระนั้นแม้ชื่อของ ไข่เน่าจะดูไม่น่ารับประทานนัก แต่เมื่อใดที่คนท้องถิ่นได้เอ่ยปากเล่าถึงฟักทองพันธุ์นี้ ก็มักบอกเล่าด้วยภาคภูมิใจเสมอว่า ไข่เน่านึ่งเสิร์ฟคู่กับน้ำพริกเป็นอาหารจานเด่นที่ต้องใช้รับแขกที่มาเยือนเพราะเมื่อนำผลไข่เน่าไปนึ่งจนสุกแล้ว เนื้อจะทั้งเหนียวและหนึบ มีรสหวานมันกำลังดี จนใครที่ได้ลองต่างบอกว่าอร่อย…กินได้ไม่มีเบื่อ

ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาชาวตำบลบัวใหญ่ จังหวัดน่าน มีแผนจะฟื้นฟูป่าน่านที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเขาหัวโล้นให้กลับมาเขียวขจีอีกครั้ง เพื่อเป็นแหล่งต้นน้ำที่ปลอดภัยให้แก่คนในประเทศ ผ่านการ ปรับเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรจากเคมีสู่อินทรีย์ โดยมีโจทย์อันท้าทายว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะต้องสร้างรายได้มากพอที่จะเลี้ยงปากท้อง ชำระหนี้ธนาคาร ที่สำคัญชาวบ้านควรมีรายได้ทุกวัน ทุกเดือน และทุกปี เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มีความอย่างยั่งยืน

จากเป้าหมายที่วางร่วมกันนั้น ทำให้ในช่วงปี 2559 คนน่านได้รวมตัวกันเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่เพื่อร่วมมือกับบริษัทเซ็นทรัลกรุ๊ป จำกัด, องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล-ประเทศไทย (WWF ประเทศไทย), มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา, สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และหน่วยงานพันธมิตร นำเอาความเชี่ยวชาญด้านการปลูกฟักทองซึ่งเป็นต้นทุนด้านการประกอบอาชีพของคนในจังหวัดมาเป็นตัวตั้งในการทำภารกิจให้สำเร็จ ซึ่งจะเป็นโอกาสสำคัญที่ ฟักทองพันธุ์ไข่เน่า จะได้ออกโรงเฉิดฉายในฐานะ สินค้าเด่นจากจังหวัดน่าน ด้วย เพราะที่ผ่านมาแม้ฟักทองสายพันธุ์นี้จะเป็นที่ชื่นชอบ ถูกปากถูกใจใครหลายคน แต่ก็ไม่เคยได้รับความนิยมถึงขั้นนำมาปลูกในปริมาณมากเทียบเท่าพันธุ์การค้า เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ในจังหวัดยังขาดองค์ความรู้ในการควบคุมการผลิตให้ได้ผลผลิตตรงตามพันธุ์อย่างสม่ำเสมอ

เพื่อเตรียมความพร้อมในการปรับเปลี่ยนวิถีการทำการเกษตรในจังหวัด คณะทำงานได้ร่วมกันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะปลูกฟักทองพันธุ์ไข่เน่า ตั้งแต่การคัดเลือกและผลิตเมล็ดพันธุ์ การปรับเปลี่ยนกระบวนการปลูก และการถ่ายทอดวิธีบริหารจัดการแปลงที่ตรงตามหลักวิชาการแก่เกษตรกร ผลที่เกิดขึ้นจากความพร้อมที่รอบด้านนี้ไม่เพียงเป็นประโยชน์ต่อการผลิตเพื่อจำหน่ายภายในประเทศเท่านั้น คนน่านยังสามารถ จดทะเบียนคุ้มครองพืชพันธุ์พื้นเมืองเฉพาะถิ่น เพื่อสงวนสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของพันธุ์ และสิทธิ์ในการจำหน่ายทั้งในไทยและต่างประเทศให้เป็นของคนในจังหวัด ซึ่งสิทธิ์ขาดนี้จะนำไปสู่การสร้างรายได้และการอนุรักษ์สายพันธุ์ท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

ทุกวันนี้ฟักทองพันธุ์ไข่เน่าไม่ได้เป็นของดีที่หารับประทานได้เฉพาะในเมืองน่านอีกต่อไปแล้ว มีการขนส่งฟักทองพันธุ์ไข่เน่าคุณภาพจากเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนฯ ไปจำหน่ายยังตลาดและห้างสรรพสินค้าชั้นนำของประเทศ โดยเกษตรกรยังได้นำงานวิจัยต่าง ๆ มาใช้ในการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลผลิตฟักทองที่ไม่ผ่านเกณฑ์ เพื่อใช้ประโยชน์ฟักทองทุกส่วนอย่างคุ้มค่าที่สุดอีกด้วย

ความร่วมมืออย่างเข้มแข็งของทุกภาคส่วนในการดำเนินงานตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา นำมาซึ่งการอนุรักษ์และการสร้างมูลเพิ่มให้แก่ทรัพยากรชีวภาพท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ช่วยให้เกษตรกรชาวน่านได้ปรับเปลี่ยนวิถีการทำการเกษตรจากเคมีสู่อินทรีย์ ปรับจากทำมากแต่ได้น้อยเป็นทำน้อยแต่ได้มาก ถือเป็นหนึ่งในตัวอย่าง Impact Value Chain ที่ประสบความสำเร็จ เป็นต้นแบบในการยกระดับการทำการเกษตรให้แก่ชุมชนในภูมิภาคอื่น ๆ ของประเทศได้

รายละเอียดเพิ่มเติม: อนุรักษ์ ‘พันธุ์ฟักทองไข่เน่า’ พืชอัตลักษณ์เมืองน่าน