Search
Close this search box.

ศจช.ตำบลตะกุกใต้ จ.สุราษฎร์ธานี ต้นแบบการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน ส่งเสริมเกษตรกรใช้ชีวภัณฑ์และศัตรูธรรมชาติ เพื่อลดต้นทุนการผลิตในแปลง

share to:

Facebook
Twitter

นายวุฒิศักดิ์ เพชรมีศรี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา  กล่าวว่า ช่วงปี 2559 เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีเริ่มหันมานิยมปลูกทุเรียนกันมากขึ้น เนื่องจากผลผลิตจำหน่ายได้ราคาดี     แต่กลับพบปัญหาต้นทุนการผลิตสูง ผลผลิตต่ำ มีการใช้สารเคมีปริมาณมากในการดูแลรักษาต้นทุเรียนที่ปลูก กรมส่งเสริมการเกษตร โดยศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดสุราษฎร์ธานีร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัด  สุราษฎร์ธานีจึงได้เข้ามาส่งเสริมองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรในเรื่องของการปลูก การดูแลรักษาทุเรียนด้วยการลดใช้สารเคมี เน้นการจัดการศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน ใช้ชีวภัณฑ์ทดแทนการใช้สารเคมี จัดตั้งศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนตำบลตะกุกใต้ อำเภอวิภาวดี จังหวัดสุราษฎร์ธานีขึ้น และกลุ่มมีมติให้ทุเรียนเป็นพืชหลัก เพื่อเฝ้าระวังและติดตามการเข้าทำลายของโรคและแมลงศัตรูพืช สอดรับกับนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้านการจัดการทรัพยากรทางการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีการใช้ปุ๋ยที่เหมาะสม ลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดศัตรูพืช พร้อมทั้งส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยตามมาตรฐาน GAP

“กรมส่งเสริมการเกษตรได้เข้ามาสนับสนุนทั้งงบประมาณ ปัจจัยการผลิต การฝึกอบรม ตลอดจนการตลาดให้กับทาง ศจช.ตำบลตะกุกใต้ โดยล่าสุดเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเกษตรอำเภอและสำนักงานเกษตรจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ด้านการจัดการศัตรูพืชในโครงการระบบจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสานผ่านการดำเนินงานแบบมีส่วนร่วม ภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง – ล้านช้าง ทำให้ ศจช.ตำบลตะกุกใต้ แห่งนี้กลายเป็นจุดศึกษาดูงาน และได้รับการสนับสนุนกล้องจุลทรรศน์ Compound Microscope และ Stereo Microscope     จากโครงการฯ เพื่อใช้ในการดำเนินงานของ ศจช.ตำบลตะกุกใต้ ในการวินิจฉัยโรคและแมลงศัตรูพืชรวมทั้งเรียนรู้แมลงศัตรูธรรมชาติที่มีในพื้นที่อีกด้วย” นายวุฒิศักดิ์ กล่าว

แหล่งที่มา/อ่านต่อได้ที่: https://doaenews.doae.go.th/archives/23385