Search
Close this search box.

กสก. เสริมแกร่ง ‘กล้วยไม้สมุทรสาคร’ ขับเคลื่อนนโยบาย 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง

share to:

Facebook
Twitter

 

“เมืองหลวงกล้วยไม้ ต้องนึกถึงสมุทรสาคร” คำพูดที่ไม่เกินจริง สมุทรสาครใกล้ๆ แค่นี้ การเดินทางจากกรุงเทพมหานครไม่ถึง 1 ชั่วโมง นอกจากวัดวาอาราม อาหารทะเลสด และนาเกลือ หนึ่งสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ สร้างรายได้ให้กับจังหวัดสมุทรสาครไม่แพ้กัน คือพืชเศรษฐกิจอย่าง ‘กล้วยไม้’ ด้วยโอกาสและจุดแข็งของพื้นที่ทำให้จังหวัดสมุทรสาครขึ้นแท่นจังหวัดที่ปลูกกล้วยไม้มากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ เพื่อยกระดับรายได้ของกลุ่มเกษตรกรตามนโยบายของรัฐบาลในการสร้างอาชีพสร้างรายได้ ให้เกษตรกร มีรายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่าในปี 2570 ภายใต้แนวคิด “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้จัดทำโครงการสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง “1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง” โดยมี กลุ่มแปลงใหญ่กล้วยไม้ หมู่ที่ 2 ตำบลหนองนกไข่ อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร เป็นหนึ่งในแปลงใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการ

นายเอนก ชื่นอารมณ์ เกษตรจังหวัดสมุทรสาคร เผยว่า โครงการสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง” เป็นนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดบูรณาการแผนงานและงบประมาณเพื่อขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวในระดับพื้นที่ (ตำบล) อย่างแท้จริง ในส่วนของสำนักงานเกษตรจังหวัดสมุทรสาครดำเนินการวิเคราะห์ศักยภาพต่างๆ มีการวางแผนการผลิต การเชื่อมโยงตลาด การเข้าถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีของเกษตรกร ขานรับนโยบาย ‘ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้’ เพื่อเป็นการสร้างแนวทางและต้นแบบที่ดีให้กับเกษตรกรในพื้นที่

5 จุดแข็งกล้วยไม้สมุทรสาคร

จังหวัดสมุทรสาครมีพื้นที่การเกษตร แค่ 20 กว่าเปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ทั้งหมด หรือประมาณ 110,000 ไร่เศษ ขณะที่กล้วยไม้เป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและจังหวัดสมุทรสาคร โดยมีพื้นที่การเพาะปลูกกล้วยไม้ประมาณ 3,000 ไร่เศษ

จุดแข็งของกล้วยไม้สมุทรสาคร ประกอบด้วย 5 เรื่องหลัก ได้แก่

1. สมุทรสาครเป็นจังหวัดปริมณฑล

ทำให้การคมนาคมสะดวก การกระจายสินค้าทำได้ง่าย เพราะใกล้ตลาดที่เป็นศูนย์กลาง ไม่ว่าจะเป็น ปากคลองตลาด ตลาดธนบุรี ตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง หรือหากส่งออกก็มีสนามบินอยู่ใกล้ๆ

2. สภาพภูมิอากาศและแหล่งน้ำ มีไม่กี่จังหวัดที่สามารถปลูกกล้วยไม้ได้จำนวนมาก ได้แก่ นครปฐม และสมุทรสาคร

3. เกษตรกรมีประสบการณ์มากกว่า 50 ปี

ในการเพาะเลี้ยงกล้วยไม้ มีการพัฒนาสายพันธุ์ เข้าถึงแหล่งเรียนรู้ การใช้เทคโนโลยีต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

4. บริษัทผู้ส่งออกกล้วยไม้ในพื้นที่มีมากถึง 5 บริษัท สอดคล้องกับอัตราส่วนการส่งออกต่างประเทศที่สูงถึงร้อยละ 40

5. มีสหกรณ์ผู้ประกอบการกล้วยไม้ไทย สมาคมผู้ประกอบการสวนกล้วยไม้ไทย เป็นแหล่งรับเรื่อง แหล่งจัดหาปัจจัยการผลิต และแหล่งให้ความรู้ด้านเทคโนโลยี นวัตกรรมต่างๆ อีกทั้งยังมีส่วนราชการสำคัญ คือ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดสมุทรสาคร ที่สามารถตอบโจทย์ให้กับพี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไม้ในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี

5 Pain Point สู่แผนพัฒนา

หลังจากสำนักงานเกษตรจังหวัดสมุทรสาครได้ลงพื้นที่เข้าไปพูดคุยกับเกษตรกร พบ 5 ปัญหาหลักที่กลุ่มแปลงใหญ่กล้วยไม้เผชิญ ได้แก่

1. สถานการณ์ราคาผลผลิตและตลาดในปัจจุบันมีความผันผวนมาก โดยเฉพาะราคาภายในประเทศ

2. ต้นทุนการผลิตสูง ทั้งการใช้ปุ๋ย สารเคมี ที่ยังมีความจำเป็นอยู่ รวมถึงค่าไฟฟ้า ค่าแรงงานที่สูงขึ้น

3. สภาพแวดล้อม ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงส่งผลต่อแมลงศัตรูพืชที่เพิ่มมากขึ้น และมีภูมิต้านทานมากขึ้น

4. แหล่งเงินทุน กล้วยไม้เป็นพืชมูลค่าสูง การลงทุนจึงค่อนข้างสูง ดังนั้นหากมีแหล่งเงินทุนที่ช่วยในเรื่องของการปลอดดอกเบี้ย หรือดอกเบี้ยราคาถูก ในห้วงเวลาก่อนที่จะได้ผลผลิตประมาณ 8-12 เดือน จะเป็นผลดีกับเกษตรกร และ 5. น้ำเค็มรุกพื้นที่การเกษตร เมื่อถึงฤดูแล้ง สมุทรสาครเป็นจังหวัดที่ติดทะเลอยู่กับปากแม่น้ำท่าจีน จะประสบปัญหาเรื่องน้ำเค็มรุกพื้นที่การเกษตร ซึ่งหากน้ำเค็มมากกว่า 0.75 กรัมต่อลิตร จะไม่สามารถใช้รดกล้วยไม้ได้

 

ที่มาภาพ/ข้อมูล: รายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://doaenews.doae.go.th/archives/23453