จับมือสร้างสังคมคาร์บอนต่ำและความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมในจังหวัดตาก

share to:

Facebook
Twitter

ดร.นัฐวุฒิ บุญยืน นักวิจัย ทีมวิจัยปฏิสัมพันธ์ของจุลินทรีย์ทางการเกษตร ไบโอเทค สวทช. เปิดเผยว่า ทีมนักวิจัยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับนักวิจัยจากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นักวิจัยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) และเครือข่ายเพื่อนสวนพฤกษ์ อ.แม่สอด จ.ตาก จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “ไมซีเลี่ยมรูปหัวใจสำหรับฟื้นฟูป่าธรรมชาติ” และ “ไมโค-บล็อกมวลเบาจากกากกาแฟ” เพื่อสังคมคาร์บอนต่ำและความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ผ่านกิจกรรมให้เยาวชนในพื้นที่ได้ร่วมกันสร้างหัวใจไมซีเลี่ยมที่ช่วยปกป้องเมล็ดพันธุ์เพื่อปลูกป่าได้ยั่งยืน และสร้างอิฐชีวภาพจากชีวมวลเหลือทิ้งภาคการเกษตรในพื้นที่ สร้างความตระหนักในเรื่องวิทยาศาสตร์และการอนุรักษ์ผืนป่า

หัวใจไมซีเลี่ยมปลูกป่า เปรียบเสมือนการใส่ใจ (หัวใจ) ลงไปด้วย ซึ่งหลังจากผ่านกิจกรรมปลูกป่าเสร็จ คาดว่าน้อง ๆ เยาวชนผู้ร่วมกิจกรรมจะกลับไปติดตามการเจริญเติบโตของต้นไม้ดังกล่าวด้วย โดยชิ้นงาน “ไมซีเลี่ยมปลูกป่ารูปหัวใจ” จะนำไปประยุกต์ในด้านการอนุรักษ์ป่า ภายใต้โครงการส่งเสริมการเรียนรู้ฯ ต่อไป และต้นไม้ที่โตขึ้นจาก “หัวใจไมซีเลี่ยม” จะนำไปสร้างการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ที่เหมืองผาแดง ภายใต้โครงการส่งเสริมการเรียนรู้ฯ ด้วย ซึ่งพื้นที่แห่งนี้ เน้นการส่งเสริมพื้นที่เกษตรและป่าชุมชนเพื่อต่อยอดโครงการสร้างป่า สร้างรายได้ผ่านกิจกรรมการท่องเที่ยวสีเขียว (Green Tourism) ชุมชนแนวใหม่ ก่อให้เกิดช่องทางรายได้เพิ่ม สร้างความตระหนักรู้ของคุณค่าพื้นที่บ้านเกิด และสร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่ออยู่ร่วมกันกับระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ อย่างยั่งยืน

ในขณะที่ “ไมโค-บล็อกมวลเบาจากกากกาแฟ” โดยใช้กากกาแฟ ซึ่งเป็นหนึ่งในของเหลือทิ้งในท้องถิ่น จ.ตาก ผ่านเทคโนโลยีทางชีวภาพ วัสดุศาสตร์ และการออกแบบเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งจะนำไปใช้จริงในสถานการณ์จำลอง หรือในสภาวะเลียนแบบที่ใกล้เคียงสภาวะแวดล้อมจริงของกลุ่มพื้นที่เป้าหมายในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ให้สอดคล้องตามความต้องการของพื้นที่ ภายใต้ BCG model และสามารถประยุกต์ต่อยอดและพัฒนาในอนาคตต่อไปได้ โดยกิจกรรมนี้ ภายใต้งานก็มาดิ… CRAFT น้อง ๆ เยาวชนได้ร่วมกันเรียนรู้การสร้างอิฐจากก้อนเห็ด กากกาแฟ เศษอ้อย ข้าวโพด และชีวมวลภาคการเกษตร โดยร่วมกันทำอิฐในเต็นท์ปลอดเชื้อที่ทีมวิจัยเตรียมไว้ให้ เพื่อลดการปนเปื้อนเชื้ออื่น ๆ ซึ่งอิฐชีวภาพที่ได้จะเป็นอิฐที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ปราศจากสารเคมีอันตราย ตอบโจทย์ในเรื่องความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม

 

 

แหล่งที่มาข้อมูล / อ่านทั้งหมดได้ที่ : https://www.dailynews.co.th/news/3829045/