Search
Close this search box.

นายกฯ ร่วมประชุม GMS ครั้งที่ 7 เร่งยกระดับความร่วมมือ เพื่อขับเคลื่อน GMS สู่ “การบูรณาการ รุ่งเรือง ยั่งยืน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

share to:

Facebook
Twitter

​นายกฯ ร่วมประชุม GMS ครั้งที่ 7 เร่งยกระดับความร่วมมือ เพื่อขับเคลื่อน GMS สู่ “การบูรณาการ รุ่งเรือง ยั่งยืน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

วันนี้ (9 กันยายน 2564) เวลา 09.00 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ร่วมประชุมและกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมระดับสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง 6 ประเทศ ครั้งที่ 7 (The 7th Greater Mekong Subregion Summit) ซึ่งราชอาณาจักรกัมพูชาร่วมกับธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ ผ่านระบบวีดิทัศน์แบบถ่ายทอดสด ภายใต้หัวข้อหลัก “GMS: พลิกฟื้นความแข็งแกร่งเพื่อเผชิญหน้ากับความท้าทายในทศวรรษใหม่” (GMS: Renewed Strength to Face the Challenges of the New Decade) โดยมีผู้นำประเทศสมาชิกฯ และองค์การระหว่างประเทศร่วมกล่าวถ้อยแถลงด้วย ดังนี้ ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย ซึ่งภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมฯ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยสาระสำคัญของถ้อยแถลงนายกรัฐมนตรี ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวยินดีที่ได้เข้าร่วมการประชุมฯ พร้อมทั้งชื่นชมความพยายามของประเทศสมาชิกในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเต็มความสามารถ ผ่านการผสานความร่วมมือของทุกภาคส่วนอย่างเข้มแข็ง เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูอย่างรอบด้านและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับประชาชนใน GMS โดยการประชุมฯ ในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ร่วมกันทบทวนการดำเนินงานในระยะที่ผ่านมา และแสวงหาความร่วมมือที่สร้างสรรค์ โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีเห็นควรร่วมกันยกระดับความร่วมมือเพื่อสานต่อความสำเร็จของ 3C ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของแผนงานความร่วมมือ GMS ดังนี้

1) Connectivity เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมอย่างไร้รอยต่อทั้งภายในอนุภูมิภาคและสู่ภูมิภาคอื่น ๆ ซึ่งไทยกำลังพัฒนาโครงข่ายคมนาคมให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศ รวมทั้งเชื่อมโยงระหว่างเมืองกับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ตามแผนการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (MR Map) และแผนพัฒนาสะพานเศรษฐกิจ (Land Bridge) ทางภาคใต้ ซึ่งจะเป็นช่องทางส่งออกและนำเข้าสินค้าแห่งใหม่ของ GMS และสามารถต่อยอดความเชื่อมโยงไปยังประเทศสมาชิกภายใต้แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) ขณะเดียวกัน ไทยมีความพร้อมในการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเข้ากับเส้นทางจากจีน และ สปป.ลาว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าและขยายห่วงโซ่มูลค่าในอนุภูมิภาค นอกจากนี้ ไทยยังได้ให้ความช่วยเหลือเพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานแก่ประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 และ 6 รวมถึงการสร้างสะพานมิตรภาพไทย-กัมพูชา เชื่อมโยงบ้านหนองเอี่ยนกับสตึงบท ซึ่งจะส่งเสริมให้ GMS มีความเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อที่แท้จริง
สำหรับความเชื่อมโยงด้านกฎระเบียบไทยส่งเสริมให้ประเทศสมาชิก GMS และ ADB เร่งผลักดันการดำเนินการตามความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (CBTA) สู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งเร่งหารือเพื่อผลักดันกฎระเบียบที่เป็นหนึ่งเดียว เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งข้ามพรมแดนอย่างมีประสิทธิภาพ

2) Competitiveness มุ่งสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ภาคธุรกิจทุกระดับปรับตัวเพื่อให้อนุภูมิภาค GMS มีขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น โดยไทยให้ความสำคัญกับการเยียวยาควบคู่ไปกับการสร้างศักยภาพของ MSMEs การส่งเสริม E-Commerce และมุ่งใช้ประโยชน์จากข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนซึ่งเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง นอกจากนี้ ไทยได้พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจะส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงภายใต้นโยบาย Thailand 4.0 ควบคู่ไปกับการกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่าง ๆ ผ่านการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน เพื่อเพิ่มโอกาสการเชื่อมโยงของห่วงโซ่มูลค่าทั้งภายในและนอกอนุภูมิภาค

3) Community เร่งส่งเสริมอนุภูมิภาค GMS ให้เป็นประชาคมที่ครอบคลุม ยั่งยืน และมีอนาคตร่วมกัน โดยเฉพาะการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับอนุภูมิภาคจากโรคระบาดหรือโรคอุบัติใหม่ โดยไทยได้จัดทำแผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 พ.ศ. 2564-2565 ซึ่งจะช่วยเกื้อกูลการดำเนินงานในระดับอนุภูมิภาค GMS อีกทางหนึ่ง พร้อมทั้งสนับสนุนความร่วมมือด้านสาธารณสุขที่มุ่งเน้นดูแลสุขภาพและสุขอนามัยแบบองค์รวม และร่วมกันขับเคลื่อนความร่วมมือชายแดน GMS ปลอดภัย ผ่านการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ตลอดจนการเพิ่มพูนความร่วมมือเพื่อการเฝ้าระวังและป้องกันโรคติดต่อในระดับภูมิภาค นอกจากนี้ การเร่งขับเคลื่อนการพัฒนาที่เน้นการสร้างความสมดุลของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่การบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งไทยได้กำหนดให้การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) เป็นวาระแห่งชาติด้วย

นายกรัฐมนตรีขอบคุณ ADB และหุ้นส่วนการพัฒนาอื่น ๆ ทั้งภาคธุรกิจและภาคประชาชน ที่มีส่วนร่วมในการพัฒนา GMS มาโดยตลอด พร้อมหวังว่าผลการประชุมในวันนี้จะนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมและประสบความสำเร็จ เพื่อสร้าง “อนุภูมิภาค GMS ที่มีการบูรณาการ รุ่งเรือง ยั่งยืน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

ในการประชุมฯ นี้ ผู้นำประเทศสมาชิกฯ ได้ร่วมกันรับรองเอกสารผลลัพธ์ 3 ฉบับ ประกอบด้วย (1) ร่างปฏิญญาร่วมระดับผู้นำ 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 7 (2) ร่างกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง พ.ศ. 2573 และ (3) ร่างเอกสารแผนการฟื้นฟูและตอบสนองต่อผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พ.ศ. 2564-2566

บทความที่เกี่ยวข้อง