เพิ่ม GDP 2 แสนล้านบาท ลดความเหลื่อมล้ำ 10 ล้านคน ด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ในปี 2566

share to:

Facebook
Twitter

ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล 7 กุมภาพันธ์ 2565 – พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) ครั้งที่ 1/2565

นายกรัฐมนตรี แสดงความเชื่อมั่นว่าการนำโมเดลเศรษฐกิจ BCG มาประยุกต์ใช้ภายใน 2 ปี จะเพิ่ม GDP ได้เป็น  2 แสนล้านบาท จากการลงทุนของภาคเอกชน โดย 9 เดือนแรกของปี 2564  มูลค่าโครงการที่ขอรับการการส่งเสริมการลงทุนสูงกว่า 128,000 ล้านบาท  ตัวอย่าง เช่น  บริษัท เนเชอร์เวิร์คส์ เอเชีย แปซิฟิก จำกัด ซึ่งมีแผนลงทุน 15,000 ล้านบาท เพื่อการผลิตพอลิเมอร์ย่อยสลายได้ด้วยเทคโนโลยีการผลิตพลาสติกชีวภาพที่ดีที่สุดในโลก และบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ลงทุนเพิ่ม 3 พันล้านบาท นอกจากนี้ยังมีบริษัทที่ลงทุนในกิจการโปรตีนทางเลือก และกลุ่มเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ เช่น บริษัท เจเนพูติก  ไบโอ จำกัด ซึ่งผลิตผลิตภัณฑ์เซลล์และยีนบำบัดเพื่อการรักษาโรคสำหรับผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว  หรือบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด รวมถึงการออกมาตรการส่งเสริมการอุตสาหกรรมแอลกอฮอล์แปลงสภาพ และการให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมแต่กิจการ BCG ที่ลงทุนในภูมิภาค

ตั้งเป้าลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนให้ได้ 10 ล้านคน  เป็นต้นว่า การปรับเปลี่ยนจากการผลิตพืชไปสู่การผลิตเมล็ดพันธุ์ ซึ่งที่ผ่านมาสามารถสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกรจำนวน 30,000 ครัวเรือน มีรายได้เฉลี่ย 120,000 บาท/ครัวเรือน ทำรายได้ให้ประเทศ 7,400 ล้านบาท ทั้งนี้การมีเมล็ดพันธุ์ดีเป็นพื้นฐานสำคัญในการเพิ่มผลผลิตและคุณภาพของผลผลิตเกษตร  นอกจากนี้ มีเป้าหมายพัฒนาพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ก้าวพ้นความยากจน พื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ครอบคลุมพื้นที่ 13 อำเภอ ใน 5 จังหวัด ได้แก่ ศรีสะเกษ สุรินทร์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร  มีเกษตรกรที่เกี่ยวข้อง 20,000 คน และมีคนจนในมิติเศรษฐกิจ 2,329 คน  ด้วยการนำองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้าไปพัฒนาทั้งอาชีพหลักและอาชีพเสริม ตลอดจนพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้ นวัตกรชุมชน เชื่อมโยงการตลาดกับภาคเอกชน รวมถึงยกระดับเกษตรกรเพื่อการเป็นผู้ประกอบการ โดยมุ่งหวังว่าจะลดคนจนในมิติเศรษฐกิจลงได้ร้อยละ 50 ในระยะเวลา 3 ปี

 

เพิ่มจำนวนผู้เข้าถึงยา เวชภัณฑ์และเครื่องมือราคาแพงจำนวน 100,000 คน ซึ่งเป็นผลจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ประเทศไทยพัฒนาอย่างต่อเนื่องทำให้ต้นทุนในการรักษาต่ำลง ดังเห็นได้จากการที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีมติเห็นชอบให้สิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับ BCG  ใหม่ 2  รายการ ได้แก่ 1) การตรวจยีน BRCA1/BRCA2 ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม 2) การผ่าตัดใส่รากฟันเทียม  การรักษาที่มีความแม่นยำสูงจากการใช้ประโยชน์จากโครงการจีโนมิกไทยแลนด์ และระบบบริการแพทย์ทางไกล (Telemedicine)

 

เพิ่มความสามารถในการพึ่งพาตนเองด้านพลังงานไม่น้อยกว่า 1,000 ชุมชน โดยการใช้ทรัพยากรในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นชีวมวล หรือพลังงานแสงอาทิตย์ ดังกรณีตัวอย่างของวัดศรีแสงธรรมและหมู่บ้านศรีแสงธรรมที่สามารถผลิตไฟฟ้าใช้ได้เพียงพอและส่วนที่เหลือที่สามารนำไปสร้างรายได้เพิ่มให้กับชุมชน

 

ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้ไม่น้อยกว่า 10 ล้านตันคาร์บอนเทียบเท่า จากการปรับเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน (Energy Efficiency)  ในระบบการผลิต การใช้พลังงานทางเลือกในภาคขนส่ง ลดการสูญเสียขยะอาหาร การนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้เพื่อให้ลดการใช้ การนำกลับมาใช้ใหม่ รวมถึงการปลูกป่า

 

การเพิ่มพื้นที่ป่า 1 ล้านไร่ โดยเน้นการปลูกในพื้นที่เป้าหมายของรัฐ ได้แก่ กรมป่าไม้   กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยภาคเอกชนที่มีบทบาทสำคัญ ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจำนวน 2 แสนไร่ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง  Society for Mangrove Ecosystems (ISME) World Climate Foundation 1 แสนไร่

 

พัฒนาให้มีผู้มีทักษะสูงเพิ่มขึ้นทั้งในเกษตรกร แรงงานในอุตสาหกรรมต่าง ๆ  และผู้ประกอบการโดยเฉพาะในกลุ่ม SMEs รวมกันไม่น้อยกว่า 3 แสนคน นอกจากนี้เป้าหมายการพัฒนาสตาร์ทอัพและผู้ประกอบที่ขับเคลื่อนนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับ BCG จำนวน 1,000 ราย

 

นอกจากนี้ ในการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบมาตรการเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อน 4 ด้านที่สำคัญ ได้แก่

 

  1. การจัดสรรงบประมาณ ได้มอบให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงบประมาณ พัฒนาแนวทางการจัดสรรงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อน BCG ให้สอดคล้องกับแนวทาง มาตรการและโครงการบูรณาการสำคัญที่บรรจุไว้ในแผนปฏิบัติการ BCG เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลได้สูงสุด สามารถเก็บเกี่ยวผลของการลงทุนที่ได้ดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว และขยายแบบอย่างความสำเร็จไปในวงกว้างเพื่อให้สามารถผลักดันให้ BCG เป็นวาระแห่งชาติได้สำเร็จ
  2. ภาครัฐปรับยุทธศาสตร์บูรณาการ BCG เพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ ในเรื่องนี้ได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่บูรณาการการทำงานในลักษณะจตุภาคีเพื่อพัฒนาโครงการ BCG เชิงพื้นที่โดยให้นำความต้องการของพี่น้องประชาชนเป็นตัวตั้งเพื่อเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ และสร้างความมั่งคั่งแบบทั่วถึง
  3. การสร้างระบบนิเวศเพื่อกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน มีมาตรการที่เกี่ยวข้องรวม 7 มาตรการ ได้แก่
  4. การปลดล็อกอุตสาหกรรมแอลกอฮอล์แปลงสภาพ เพื่อการต่อยอดเพิ่มมูลค่าให้กับเอทานอลสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เรื่องนี้จะได้มอบให้กรมสรรพสามิตไปดำเนินการ
  5. การลงทุนโครงสร้างคุณภาพเพิ่มเติม เพื่อผลักดันสินค้าไทยสู่มาตรฐานสากลหรือเป็นสินค้าพรีเมียม โดยเน้นการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในโครงสร้างพื้นฐานคุณภาพที่สำคัญ
  6. เร่งรัดการออก พ.ร.บ. ความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ… เพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชีวภาพ สำหรับอุตสาหกรรม BCG ที่ไม่ใช่อาหาร เพื่อให้มีกลไกการกำกับดูแลกิจกรรมที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม (LMOs) และเพิ่มความเชื่อมั่นของภาคเอกชนจากความชัดเจนของนโยบาย
  7. การให้อุตสาหกรรมนวัตกรรม BCG ในพื้นที่นำร่องได้รับสิทธิประโยชน์การลงทุนเพิ่มขึ้น เพื่อการกระตุ้นให้ภาคเอกชนที่พร้อมลงทุนในธุรกิจ BCG โดยเฉพาะกลุ่มนวัตกรรมเร่งรัดการลงทุนที่มีแผนลงทุนมูลค่าไม่น้อยกว่า 150,000 ล้านบาท ทั้งนี้ การลงทุนดังกล่าวจะกระตุ้นการใช้วัตถุดิบและการจ้างในพื้นที่
  8. การสนับสนุนการผลิตและการใช้ออโต้จีเนียสวัคซีน (Autogenous Vaccine) หรือ วัคซีนที่ผลิตจากเชื้อโรค (เชื้อไวรัสและแบคทีเรีย) ในร่างกายของสัตว์ที่ป่วย สำหรับปศุสัตว์และสัตว์น้ำที่ได้มาตรฐานเพื่อลดความสูญเสียจากโรคระบาด ด้วยการสนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานการผลิต Autogenous vaccine สำหรับปศุสัตว์และสัตว์น้ำที่ได้มาตรฐาน GMP รวมถึงประกาศ Sandbox
  9. การพัฒนาและส่งเสริมการใช้ฉลากสินค้า BCG เพื่อการขยายตลาด เพื่อให้ง่ายในการจดจำ เช่นเดียวกับฉลากสินค้าประหยัดไฟเบอร์ 5
  10. การสนับสนุนให้ TAGTHAi เป็น Thailand Digital Tourism Platform หลักของประเทศ เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่ออำนวยความสะดวกและส่งเสริมการท่องเที่ยวคุณภาพสูง

4 การสนับสนุนภาคประชาสังคม ด้วยการให้การสนับสนุนการ จัดตั้ง National Food Bank การจัดตั้งเครือข่ายผู้ประกอบการผลิตอาหาร การให้ภาคเอกชนร่วมกันพัฒนาระบบสนับสนุนต่าง ๆ เช่น ระบบ Logistics และระบบบริหารจัดการอาหารส่วนเกิน รวมถึงปรับกฎระเบียบเพื่อสนับสนุนการบริจาคอาหารส่วนเกินในลักษณะเดียวกับ พ.ร.บ. บริจาคอาหารของประเทศเกาหลีใต้

นายกรัฐมนตรี ฝากทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม (จตุภาคี) ร่วมกันดำเนินงานขับเคลื่อน BCG ให้เกิดผลโดยเร็ว รวมถึงทำงาน BCG เชื่อมโยงกันเพื่อการเป็นเจ้าภาพ APEC ที่สัมฤทธิ์ผล  ทั้งนี้ผลของมาตรการดังกล่าวจะเอื้อให้ทุกภาคส่วนร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานได้อย่างเป็นเอกภาพ ผลักดันให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะในภูมิภาค ลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิต ภายใต้การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนอันเป็นหลักการสำคัญของโมเดลเศรษฐกิจ BCG

บทความที่เกี่ยวข้อง