Search
Close this search box.

แบตเตอรี่สังกะสีชนิดอัดประจุซ้ำได้ จากถ่านไฟฉายใช้แล้วและขยะทางการเกษตร

share to:

Facebook
Twitter

 

กรุงเทพมหานครมีปริมาณขยะถ่านไฟฉายธรรมดา (zinc carbon battery) และแอลคาไล (alkaline battery) ซึ่งเป็นถ่านชนิดปฐมภูมิหรือไม่สามารถอัดประจุซ้ำเพื่อใช้งานใหม่ได้ มากถึง 5 ตันต่อเดือน แต่โดยทั่วไปทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศมีการรีไซเคิลส่วนประกอบของถ่านทั้ง 2 ชนิดมาใช้ประโยชน์แค่เฉพาะส่วนห่อหุ้มแบตเตอรี่ (packaging) ที่เป็นอะลูมิเนียมและสเตนเลสเท่านั้น การวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้านการรีไซเคิลวัสดุส่วนประกอบอื่น ๆ ภายในแบตเตอรี่ เพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างคุ้มค่าแก่การลงทุนจึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะช่วยลดทั้งการใช้ทรัพยากรจากธรรมชาติและการทำลายสิ่งแวดล้อม

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม กระทรวงกลาโหม เดินหน้าวิจัยและพัฒนากระบวนการรีไซเคิลธาตุสังกะสีและแมงกานีสซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของถ่านธรรมดาและแอลคาไลสำหรับใช้ในการผลิตแบตเตอรี่สังกะสีชนิดอัดประจุซ้ำได้ (zinc-ion battery) เพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทานของการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและก่อให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานอย่างยั่งยืน โดยในกระบวนการผลิตยังได้พัฒนากระบวนการแปรรูปชีวมวล (biomass) ของเหลือจากอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารให้เป็นถ่านกัมมันต์ (activated carbon) ประสิทธิภาพสูง เพื่อใช้เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานแก่แบตเตอรี่ที่ผลิตอีกด้วย ทั้งนี้การดำเนินงานได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)

ปัจจุบันการผลิต zinc-ion battery จากวัสดุเหลือทิ้ง ประสบความสำเร็จในระดับห้องทดลองแล้ว โดยการวิจัยและพัฒนากระบวนการผลิต แบตเตอรี่สังกะสีชนิดอัดประจุซ้ำได้จากถ่านไฟฉายใช้แล้วและขยะทางการเกษตรเป็นหนึ่งในการทำวิจัยเพื่อขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG ทั้งในด้านการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด และการพัฒนากระบวนการผลิตที่คำนึงถึงการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่เพียงส่งผลดีด้านการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและลดข้อกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นการช่วยเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ประเทศไทยอีกด้วย เพราะนอกจากไทยจะมีทรัพยากรจากวัสดุเหลือทิ้งในปริมาณมากแล้ว ไทยยังมีความพร้อมด้านทรัพยากรธรรมชาติที่จำเป็นต่อการผลิตแบตเตอรี่ชนิดนี้

ส่วนทางด้านการนำไปใช้ประโยชน์ zinc-ion battery ใช้งานได้หลากหลาย โดยเฉพาะการใช้เป็นแหล่งกักเก็บพลังงานให้กับอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดตั้งอยู่กับที่ที่ต้องการความทนทานต่อสภาพแวดล้อม หรือการใช้ในภารกิจที่ต้องการความปลอดภัยสูง เพราะ zinc-ion battery ทนทานต่อทั้งความร้อนและความชื้น ที่สำคัญหากเกิดการฉีกขาด แบตเตอรี่ชนิดนี้จะไม่ระเบิดหรือติดไฟ เหมือนกับแบตเตอรีลิเทียมชนิดอัดประจุซ้ำได้ (lithium-ion battery) ที่มีการใช้งานอยู่มากในปัจจุบัน

รายละเอียดเพิ่มเติม : สวทช. ร่วมจุฬาฯ พัฒนา ‘แบตเตอรี่สังกะสีชนิดอัดประจุซ้ำได้ (Zinc-ion Battery)’ จากถ่านไฟฉายใช้แล้วและขยะทางการเกษตร