สาขาเกษตร: โครงการยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเหนียวด้วยเกษตรสมัยใหม่บนเส้นทางสายวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง (BCG-NAGA Belt Road)

share to:

Facebook
Twitter

ผลงานเด่น : แผนงานยุทธศาสตร์ การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ปี 2565
สาขาเกษตร
“โครงการยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเหนียวด้วยเกษตรสมัยใหม่บนเส้นทางสายวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง (BCG-NAGA Belt Road)”

ข้าวเหนียวเป็นสินทรัพย์ทางชีวภาพและทางวัฒนธรรมของชุมชนภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง การปลูกข้าวเหนียวในประเทศไทยเน้นเพื่อการบริโภค ส่วนที่เหลือจากการบริโภคจะนำไปจำหน่าย เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเหนียวมีรายได้ไม่สูง เนื่องจากสูญเสียผลผลิตจากการระบาดของโรค แมลงและวิกฤตสภาพแวดล้อมต่างๆ รวมถึงปัญหาด้านการตลาดอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของอุปสงค์และอุปทาน การยกระดับรายได้ของเกษตรกรที่ปลูกข้าวเหนียวจำเป็นต้องดำเนินการในหลายมิติเพื่อให้การผลิตมีประสิทธิภาพ เกิดการใช้นวัตกรรมแปรรูปผลผลิตเป็นสินค้าใหม่ๆ ที่มีความสากลแต่ยังคงรักษาอัตลักษณ์ความเป็นไทย การนำเศษวัสดุทางการเกษตรที่เหลือใช้มาเพิ่มมูลค่า เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว ขับเคลื่อนให้ครัวเรือนภาคเกษตรมีรายได้เพิ่มขึ้น และเป็นสังคมเกษตรสีเขียว

“โครงการยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเหนียวด้วยเกษตรสมัยใหม่บนเส้นทางสายวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง (BCG-NAGA Belt Road)” เป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนของ BCG สาขาเกษตร ที่เป็นแบบอย่างการทำงานด้วยความร่วมมือแบบ 4P (Public-Private-People-Professional partnership) ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน กลุ่มเกษตรกร สถาบันการศึกษาในพื้นที่ ในปี 2565 มีเป้าหมายในการพัฒนาเกษตรกรในพื้นที่นำร่อง จ.ลำปาง จ.เชียงราย จ.อุดรธานี จ.นครพนม ด้วยการผลักดันการใช้ BCG Model ขับเคลื่อนชุมชนที่มีฐานการผลิตข้าวเหนียวให้มีการสร้างมูลค่าเพิ่มแบบครบวงจร ด้วยการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการผลิตข้าวด้วยเกษตรสมัยใหม่ การเพิ่มมูลค่าการแปรรูปผลผลิต การใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรตอบโจทย์เศรษฐกิจหมุนเวียน และการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนและวัฒนธรรมข้าวเหนียว ดำเนินการโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัท เกษตรอินโน จำกัด และหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง

ผลการดำเนินงาน :

1. พัฒนานักวิจัยชุมชน 87 คน ได้แก่ ผู้ประสานงานระดับจังหวัด (F, Facilitator) ผู้นำเกษตรกร (L, Leader) ผู้นำชุมชน (T, Trainer) พัฒนาเกษตรกร 3,324 คน ให้มีทักษะการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวเหนียวคุณภาพดีตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับเมล็ดพันธุ์ข้าว มกษ. 4406-2560 ตามมาตรฐานเกษตรปลอดภัย (GAP) และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม PGS-SDGs และสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับวินิจฉัยโรคข้าว จากการประเมินองค์ความรู้ที่เกษตรกรได้รับเปรียบเทียบกับก่อนได้รับการอบรมทุกหลักสูตรประสบความสำเร็จอยู่ในเกณฑ์ที่ดีถึงดีมาก นอกจากนั้นยังได้ยกระดับความรู้ความสามารถของผู้ประกอบการด้านปัจจัยทางการเกษตร ผู้ประกอบการด้านเครื่องจักรกลทางการเกษตร ผู้ประกอบการโดรนทางการเกษตร ผู้ประกอบการโรงสี ผู้ประกอบการด้านการแปรรูป 478 คน ให้มีทักษะทางวิชาชีพเพิ่มขึ้น

2. ยกระดับผลิตภัณฑ์การแปรรูปจากข้าวเหนียวด้วยกระบวนการ CDIO หรือ Conceive (C) Design (D) Implement (I) และ Operate (O) 32 ผลิตภัณฑ์ โดยคัดเลือกจากผู้ประกอบการด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าวเหนียวที่มีศักยภาพ ทำให้ผู้ประกอบการมีรายได้เพิ่มขึ้น 7,463,444 บาท อีกทั้งได้อบรม Creative Design Thinking ให้กับผู้ประกอบการด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าวเหนียวที่มีศักยภาพ 40 ราย ได้ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมแปรรูปจากข้าวเหนียว 72 ผลิตภัณฑ์ และได้นำผลิตภัณฑ์การแปรรูปจากข้าวเหนียวเข้าร่วมแข่งขันนวัตกรรมระดับสากลในงาน European Exhibition of Creativity and Innovation 2023 ณ เมืองยาช ประเทศโรมาเนีย ระหว่างวันที่ 11-13 พฤษภาคม 2566 ซึ่งได้รับรางวัล 14 รางวัล จาก 3 ต้นแบบผลงาน ได้แก่
1. แป้งไข่มุกข้าวก่ำ (Black Rice Pearls Powder for Molecular Gastronomy Recipes)
2. แป้งข้าวเม่าสำเร็จรูป (Green Rice Flour) และ
3. เบอร์เกอร์ข้าวเหนียวข้าวกล้องจิ้งหรีด (Healthy and Eco-friendly Cricket Burger)
โดยในงานดังกล่าวมีการจัดแสดงผลงานนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์มากกว่า 600 ผลงานจาก 40 ประเทศจากพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากข้าวเหนียวที่มีศักยภาพทางการตลาดสูง ส่งผลให้ผู้ประกอบการสามารถสร้างยอดขายมากกว่า 12 ล้านบาท

3. เพิ่มมูลค่าจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรมากกว่า 12 ต้นแบบ โดยการทำ Particle Board จากฟางข้าว และพลาสติกสู่งานสร้างสรรค์ทางหัตถศิลป์ พัฒนาการผลิตภาชนะจาก Biomaterial (ฟางข้าว) การผลิตเห็ดจากฟางข้าว ประยุกต์ใช้ Geopolymer ในงานหัตถกรรมโดยการใช้แกลบดำหรือเถ้าลอยจากโรงงานไฟฟ้าชีวมวล การพัฒนาดินปลูกคุณภาพสูงจากเถ้าลอยจากโรงงานไฟฟ้าชีวมวล และ/หรือ แหนแดง รวมทั้งการประยุกต์สีย้อมธรรมชาติจากทุ่งนาสู่งานหัตถกรรมสิ่งทอ ซึ่งเกิดรายได้แก่ชุมชนกว่า 2.7 ล้านบาท

4. พัฒนาชุมชนคาร์บอนต่ำ 12 ชุมชน ด้วยการถ่ายทอดเทคโนโลยี Tailored Made ที่เหมาะสมแต่ละชุมชน อาทิ การใช้ประโยชน์จากแหนแดง การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการทำการเกษตร การใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพในการทำการเกษตร การท่องเที่ยวในชุมชนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การนำโซล่าเซลล์ใช้บนแพท่องเที่ยว ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการผลิตข้าวฮางงอก เป็นต้น

5. สร้างรายได้ให้ชุมชนจากการท่องเที่ยวด้วยการออกแบบเส้นทางการท่องเที่ยววัฒนธรรมข้าวเหนียว พัฒนาหมู่บ้านการท่องเที่ยวด้วยวัฒนธรรมข้าวเหนียว และตลาดวัฒนธรรมข้าวเหนียวในพื้นที่ จ.เชียงราย จ.ลำปาง จ.นครพนม และ จ.อุดรธานี

6. รวบรวมข้อมูลเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมของกลุ่มประชากรเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเหนียว ผู้ประกอบการ เพื่อติดตามและประเมินผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง และพัฒนาช่องทางการสื่อสารและประชาสัมพันธ์โครงการผ่านเพจ Facebook : BCG-NAGA Belt Road

 

รูปที่ 1 ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากข้าวเหนียวที่ได้รับรางวัลจากงาน European Exhibition of Creativity and Innovation 2023 ณ เมืองยาช ประเทศโรมาเนีย (ภาพซ้าย) แป้งไข่มุกข้าวก่ำ (Black Rice Pearls Powder for Molecular Gastronomy Recipes) (ภาพกลาง) แป้งข้าวเม่าสำเร็จรูป (Green Rice Flour) และ (ภาพขวา) เบอร์เกอร์ข้าวเหนียวข้าวกล้องจิ้งหรีด (Healthy and Eco-friendly Cricket Burger)

 

รูปที่ 2 การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์จากทรัพยากรท้องถิ่นและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับข้าวเหนียว

 

รูปที่ 3 หมู่บ้านแห่งการท่องเที่ยววัฒนธรรมข้าวเหนียวเพื่อการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากใน จ.เชียงราย จ.ลำปาง จ.นครพนม และ จ.อุดรธานี