ผลงานเด่น : แผนงานยุทธศาสตร์ การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ปี 2565
สาขาเกษตร
“โครงการยกระดับอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้านและ Young smart farmers”
โครงการมุ่งเน้นยกระดับเกษตรกรรุ่นใหม่ให้เป็นผู้มีทักษะและความรู้ด้านเกษตรสมัยใหม่ เน้นการทำเกษตรแบบประณีต ทำน้อยแต่ได้มาก ผลิตสินค้าเกษตรคุณภาพสูง มีตลาดชัดเจน สามารถปรับประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการบริหารจัดการฟาร์ม ปรับเปลี่ยนสู่การทำเกษตรสมัยใหม่หรือเกษตร 4.0 เกิดความมั่นคงในอาชีพและรายได้อย่างยั่งยืน โครงการประกอบด้วยการดำเนินงาน 3 ส่วน คือ 1) พัฒนายกระดับทักษะและความรู้แก่เกษตรกรรุ่นใหม่ Young Smart Farmer 2) การอบรมเกษตรกรภายใต้ความร่วมมือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และ 3) พัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ด้านการเกษตรร่วมกับมหาวิทยาลัยผ่าน Training Hub เรียนรู้ผ่านสื่อออนไลน์ (Overview ) อบรมออนไลน์ ผ่านระบบ Zoom กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากเกษตรกรผู้ใช้เทคโนโลยี กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Onsite) และเกษตรกรแลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกับทีมวิจัยผ่านกลุ่มไลน์
ผลการดำเนินงาน :
1. นำเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่หรือเกษตรอัจฉริยะ ได้แก่ 1) การออกแบบระบบน้ำและควบคุมการให้น้ำอัตโนมัติ ฟาร์มรักษ์น้ำ 2) เทคโนโลยีการบริหารจัดการแปลงเกษตรด้วยข้อมูลสภาพภูมิอากาศจากระบบ WiMaRC 3) เทคโนโลยีการจัดการน้ำด้วยระบบเกษตรอัจฉริยะ HandySense 4) เทคโนโลยีการจัดการฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำด้วยระบบ Aqua IOT และ 5) การจัดการโรคพืชและแมลงศัตรูพืชด้วยสารชีวภัณฑ์ ไปอบรมให้แก่ เกษตรรรุ่นใหม่ Young Smart Farmer (YSF) เกษตรกร อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) 1,039 คน
2. อบรมและให้ความรู้เชิงลึกแก่เกษตรกร 20 คน จาก 16 จังหวัด ใน 6 ด้าน ได้แก่ ด้านมาตรฐานการผลิต ด้านการออกแบบสินค้าและบรรจุภัณฑ์ ด้านเทคโนโลยีการผลิต ด้านการพัฒนาสูตรและผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ด้านการท่องเที่ยวเชิงเกษตร และด้านแผนธุรกิจสำหรับยื่นขอสินเชื่อกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
3. พัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้และถ่ายทอดองค์ความรู้ผ่านสถานีเรียนรู้ Training hub ให้แก่เจ้าหน้าที่หน่วยงานจังหวัด เกษตรกร และบุคคลทั่วไปที่สนใจ ดังนี้
1) ภาคเหนือ: จังหวัดเชียงใหม่ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้พัฒนาหลักสูตรการบริหารจัดการฟาร์มเพื่อการผลิตผักอินทรีย์คุณภาพ การผลิตเมล็ดพันธุ์ผักให้ได้คุณภาพและเรียนรู้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และการผลิตปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกลับกองให้ได้คุณภาพ
2) ภาคกลาง: จังหวัดสุพรรณบุรีร่วมกับมหาวิทยาลัยสวนดุสิตพัฒนาหลักสูตรเทคโนโลยีโรงเรือนอัจฉริยะและได้ทดสอบผลิตเมลอนในโรงเรือนต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 แล้ว เพื่อพัฒนาเป็นต้นแบบผลิตเมลอนในโรงเรือนอัจฉริยะ
3) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดร้อยเอ็ดร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานพัฒนาหลักสูตรการบริหารจัดการน้ำและระบบชลประทานเพื่อการเกษตรนอกเขตพื้นที่ชลประทาน การบริหารจัดการพื้นที่เกษตรประณีตเชื่อมโยงการท่องเที่ยว การผลิตโคเนื้อคุณภาพสูงต้นทุนต่ำ การทำเกษตรแบบโคกหนองนาโมเดลและการใช้โซล่าเซลล์ และการผลิตสมุนไพร
4) ภาคตะวันออก: จังหวัดจันทบุรีร่วมกับมหาวิทยาลัยบูรพาพัฒนาหลักสูตรการเลี้ยงสัตว์น้ำ หลักสูตรการพัฒนาผู้ประกอบการท่องเที่ยว และได้พัฒนาฐานเรียนรู้การผลิตเห็ดเศรษฐกิจ และ
5) ภาคใต้: จังหวัดนครศรีธรรมราช ตรัง สงขลาร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย พัฒนาหลักสูตรการจัดการผลิตไก่พื้นเมืองด้วยนวัตกรรมแบบครบวงจร เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตพริกไทยปะเหลียน และการพัฒนาผู้ประกอบการ Young Smart Farmer Innovative Entrepreneurship เพื่อเชื่อมโยงตลาด
รูปที่ 1 การพัฒนาและยกระดับ Young Smart Farmer ความร่วมมือกรมส่งเสริมการเกษตร