Search
Close this search box.

ยูเนสโก ประกาศให้ดอยหลวงเชียงดาว จ.เชียงใหม่ ของไทย เป็นพื้นที่ชีวมณฑล แห่งที่ 5 พร้อมเตรียมเดินหน้าพัฒนากลไกการท่องเที่ยวในพื้นที่ด้วยรูปแบบคนอยู่กับป่าอย่างสมดุล

share to:

Facebook
Twitter

คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ประกาศให้ดอยหลวงเชียงดาว จ.เชียงใหม่ ของประเทศไทย เป็นพื้นที่ชีวมณฑล แห่งที่ 5 พร้อมเตรียมเดินหน้าพัฒนากลไกการท่องเที่ยวในพื้นที่ด้วยรูปแบบคนอยู่กับป่าอย่างสมดุล    

        

นายวราวุธ ศิลปะอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ที่ประชุมสภาประสานงานระหว่างชาติว่าด้วยโครงการด้านมนุษย์และชีวมณฑล (MAB-ICC) ครั้งที่ 33 โดยคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา ณ เมืองอาบูจา สาธารณรัฐไนจีเรีย ได้ประกาศรับรองพื้นที่สงวนชีวมณฑลดอยหลวงเชียงดาว จ.เชียงใหม่ ของประเทศไทยเป็นพื้นที่ชีวมณฑล แห่งที่ 5 ของประเทศไทยและเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายพื้นที่สงวนชีวมณฑลโลก เนื่องจากพื้นที่ดอยหลวงเชียงดาวเป็นต้นแบบการทำงานที่ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง BCG Economy การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรม แนวคิด เทคโนโลยี และนวัตกรรมต่างๆในระดับประเทศและสากลที่เป็นประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่และจังหวัดเชียงใหม่  โดยเฉพาะส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆพัฒนากลไกในพื้นที่ด้วยรูปแบบคนอยู่กับป่าอย่างสมดุล ทั้งนี้ ดอยหลวงเชียงดาวมีความโดดเด่นด้านสังคมพืชกึ่งอัลไพน์ที่เชื่อมโยงกับสังคมพืชในเทือกเขาหิมาลัยทางตอนใต้ของจีน ภูมิประเทศเขาหินปูน ภูมิปัญญาเหมืองฝาย ตัวอย่างกลไกการจ่ายแทนคุณระบบนิเวศในพื้นที่บ้านปางมะโอ พื้นที่แกนกลางที่ได้รับการดูแลโดยเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวมากว่า 40 ปี และศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในพื้นที่ ด้วยการจัดการผลกระทบจากการท่องเที่ยวที่เข้มข้น โดยเฉพาะเส้นทางศึกษาธรรมชาติยอดดอยหลวงเชียงดาว รวมถึง ยังเป็นแหล่งอาศัยที่ปลอดภัยของสัตว์ป่าสงวน เช่น กวางผา เลียงผา , สัตว์ป่าคุ้มครองอีกหลายชนิด และมีความเป็นไปได้สูงที่จะค้นพบพืชและสัตว์ชนิดพันธุ์ใหม่ของโลกได้และมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น วัฒนธรรมของชาวไทยใหญ่ ม้ง มูเซอ ลีซอ ปกากะญอ และวัฒนธรรมล้านนาสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ แล้วยังมีความโดดเด่นการจัดการพื้นที่คุ้มครองเพื่ออนุรักษ์สัตว์ป่า โดยเฉพาะการอนุรักษ์กวางผาในถิ่นที่อยู่

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวย้ำว่า การจัดการเชิงพื้นที่ดอยหลวงเชียงดาวรวม 536,931 ไร่ เป็นการกำหนดเขตเพื่อส่งเสริมให้เกิดการจัดการที่ยั่งยืน โดยไม่กระทบกับการบังคับใช้กฎหมายและการปกครองที่มีอยู่ โดยพื้นที่แกนกลางและพื้นที่กันชนจัดการโดยใช้พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มีคณะกรรมการที่ปรึกษาเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว ส่วนพื้นที่รอบนอกการบริหารจัดการเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของส่วนราชการภูมิภาคและท้องถิ่น คาดว่า จะเกิดประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่น ทั้งการถ่ายทอดความรู้ด้านธรรมชาติและวัฒนธรรม , การส่งเสริมการพัฒนาการให้บริการที่เป็นมืออาชีพด้านการท่องเที่ยวและการศึกษาธรรมชาติ , การเพิ่มช่องทางการตลาดของสินค้า ผลิตภัณฑ์ และการบริการที่ผลิตในพื้นที่นำเสนอด้วยการควบคุมคุณภาพของสินค้าภายใต้การเป็นแหล่งสงวนชีวมณฑล , การรักษาสภาพแวดล้อมที่ดี และความอุดมสมบูรณ์ไว้ให้ประชาชน