บพท. จัดประชุมการพัฒนาประเดินการวิจัย ภายใต้การพัฒนาเมืองและพื้นที่กลุ่มเศรษฐกิจโดยรอบบนฐานเศรษฐกิจสีเขียว

share to:

Facebook
Twitter

 

 

 

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ร่วมกับโครงการประสานงานวิจัยเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเมืองน่าอยู่ และการกระจายศูนย์กลางความเจริญ ได้จัดงานประชุมการพัฒนาประเด็นการวิจัยภายใต้การพัฒนาเมืองและพื้นที่กลุ่มเศรษฐกิจโดยรอบบนฐานเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ขึ้น เมื่อวันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน 2567 ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและกำหนดทิศทางการวิจัยที่สอดคล้องกับการพัฒนาเมืองและเศรษฐกิจโดยการผลักดันและขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจสีเขียวซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ

การจัดงานในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นายบุญเยี่ยม เหลาสะอาด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเมืองน่าอยู่และการกระจายศูนย์กลางความเจริญ (ฝ่าย 3) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เป็นประธานเปิดงานและกล่าวถึงทิศทางในการสนับสนุนทุนภายใต้กรอบวิจัย “การพัฒนาเมืองและพื้นที่กลุ่มเศรษฐกิจโดยรอบบนฐานเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)” ในปีงบประมาณ 2568 ซึ่งโจทย์วิจัยจะมุ่งตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พ.ศ. 2561-2580 และเพิ่มเมืองน่าอยู่จำนวน 50 เมืองภายในปี พ.ศ. 2570 ตามมิติของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาชุมชน/ ท้องถิ่นที่ประสบความสำเร็จรวมถึงมุ่งพัฒนาให้เมืองมีข้อมูล ความรู้ กลไก และกระบวนการในการบริหารจัดการเมืองให้มีความสามารถทางการแข่งขัน บนฐานการผลิตที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เกิดการจ้างงานประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเมืองมีการเติบโตอย่างยั่งยืน

ไฮไลท์สำคัญของงาน คือ การเสวนาในหัวข้อ “เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) โจทย์วันนี้ของพรุ่งนี้” โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐกิจสีเขียวของ บพท. เข้าร่วม อาทิ ดร.จำเนียร วรรัตน์ชัยพันธ์ ดร.กฤติมา ลี่รัตนวิสุทธิ์ ดร.พรพิมล วราทร โดย ดร.จำเนียร วรรัตน์ชัยพันธ์ ในฐานะประธานคณะทำงานเพื่อพิจารณา ติดตาม และประเมินผลฯ กล่าวถึง ความคาดหวังของการพัฒนาโจทย์วิจัยในอนาคตของการพัฒนาบนฐานเศรษฐกิจสีเขียว โดยเน้นย้ำถึง การบูรณาการเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ต้องผสมผสานคุณค่าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างสมดุล พร้อมทั้งบูรณาการมุมมองด้านวัฒนธรรม (Culture-Based) เพื่อสร้างความยั่งยืน และการให้ความสำคัญในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาผสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาชน รวมถึงการพัฒนาเครื่องมือทางนโยบายที่เข้าใจความต้องการของพื้นที่ และสอดคล้องกับการพัฒนาพื้นที่ เพื่อสร้างเศรษฐกิจสีเขียวที่ตอบโจทย์ความต้องการในพื้นที่อย่างแท้จริง

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจไปสู่ความยั่งยืน เพื่อสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม และความเป็นอยู่ที่ดีของสังคม เพื่อพัฒนารูปเเบบเศรษฐกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืนทางสิ่งเเวดล้อมในทุกขั้นตอนของห่วงโซ่อุปทานและพร้อมรับมือกับความท้าทายที่โลกและพวกเรากำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ทั้งจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ภัยพิบัติ การจัดการขยะและพลาสติก ซึ่งเป็นปัญหาหลักที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ ณ ขณะนี้รวมถึงการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและสามารถนำไปสู่ความยั่งยืน รวมถึงการผสานแนวคิดที่คำนึงถึงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก (Nature-based solutions) และวัฒนธรรมและเศรษฐกิจพอเพียง (Culture-based solutions) เพื่อขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG Model (Bio-Circular-Green Economy)

 

 

แหล่งที่มาข้อมูล / อ่านทั้งหมดได้ที่ : https://www.naewna.com/relation/843518#google_vignette