เปิดรายงานฉบับใหม่ผลักดันประเทศไทยสร้างมิติใหม่ ยกระดับสิทธิผู้บริโภค เพิ่มทางเลือก ทลายกำแพงการซ่อมแซม กระตุ้นธุรกิจช่วยโลกแก้โจทย์ใหญ่ลดขยะอิเล็กทรอนิกส์กว่า 450,000 ตันต่อปี สอดคล้องเศรษฐกิจ BCG ของไทยสถาบันนโยบายสาธารณะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) และมหาวิทยาลัยรังสิต จัดทำรายงานใหม่ล่าสุด เปิดเผยถึงโอกาสสำคัญที่ประเทศไทยจะสามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคอาเซียน ในการผลักดันกฎหมายสิทธิในการซ่อมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ Right to Repair – R2R
คือการที่ผู้บริโภคควรมีสิทธิในการซ่อมแซมผลิตภัณฑ์ของตนเอง ตั้งแต่เครื่องจักรกลการเกษตร ยานยนต์ ไปจนถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยสามารถเข้าถึงอะไหล่ เครื่องมือ และคู่มือการซ่อม ซึ่งปัจจุบันผู้ผลิตหลายรายได้กำหนดข้อจำกัดทั้งทางกายภาพ กฎหมาย และดิจิทัล เพื่อปิดกั้นการซ่อมโดยอิสระ ดังนั้น R2R จึงมีบทบาทสำคัญในการคุ้มครอง “สิทธิด้านการซ่อม” พร้อมทั้งลดข้อจำกัดด้านซอฟต์แวร์ที่จะช่วยป้องกันไม่ให้อะไหล่ทดแทนใช้งานได้ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “Parts Pairing” หรือ “การจับคู่ชิ้นส่วน” ที่ส่งผลให้ค่าซ่อมเพิ่มขึ้นอย่างมาก ประเด็นคือการขาดทางเลือกของผู้บริโภค ค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เป็นแรงผลักสำคัญให้ R2R เรียกร้องให้ผลิตภัณฑ์สามารถซ่อมได้ง่ายขึ้น เพื่อให้สิทธิและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากขึ้นแก่ผู้บริโภค ทั้งนี้ ที่ผ่านมาหลายรัฐในสหรัฐอเมริกาได้ผ่านกฎหมายดังกล่าวแล้ว และปัจจุบันมีอีก 30 รัฐที่กำลังพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว ขณะที่ สหภาพยุโรปประกาศใช้กฎหมาย R2R ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567 ซึ่งห้ามผู้ผลิตกำหนดข้อจำกัดในการซ่อม และบังคับให้ผู้ผลิตต้องจัดหาอะไหล่และเครื่องมือในราคาที่สมเหตุสมผล
นายเอ็ดเวิร์ด แรตคลิฟฟ์ กรรมการบริหาร สถาบันนโยบายสาธารณะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวถึงรายงานฉบับใหม่ “(ฉบับร่าง) สิทธิในการซ่อมในประเทศไทย การพัฒนาผลลัพธ์เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค ช่างซ่อม และสิ่งแวดล้อม” เพื่อขับเคลื่อนนโยบายในไทยว่า “ประเทศไทยซึ่งเป็นตลาดอิเล็กทรอนิกส์ใหญ่และมียอดจำหน่ายสมาร์ทโฟนถึง 14 ล้านเครื่องในปี 2566 คาดว่าอัตราการใช้สมาร์ทโฟนจะสูงถึง 97% ภายในปี 2572 ทำให้ประเทศไทยเหมาะสมกับการออกกฎหมาย R2R ที่ก้าวหน้า”
แหล่งที่มาข้อมูล / อ่านทั้งหมดได้ที่ : https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9680000018377