(ชมคลิป) สวทช. ชวนค้นหาคำตอบ การขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย AI ในงาน “NAC2025” พร้อมเปิดบ้านโชว์ผลงานวิจัยที่ใช้ประโยชน์ได้จริง

share to:

Facebook
Twitter

 

 

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สวทช. เป็น “ขุมพลังหลักของประเทศ” ในการขับเคลื่อนการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม เสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน หรือ S&T Implementation for Sustainable Thailand ด้วยตระหนักดีว่า วทน. เป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหาสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อเป็นขุมพลังในการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานราก พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนคนไทยอย่างทั่วถึง และสร้างความเข้มแข็งและศักยภาพในการแข่งขันให้กับประเทศ

1. Pathumma LLM : โมเดล AI ที่พัฒนาขึ้นเพื่อเข้าใจบริบทและวัฒนธรรมไทยอย่างลึกซึ้ง โดยใช้เทคโนโลยี Multi-Modal AI ซึ่งรวม 3 ความสามารถหลัก ได้แก่ Text LLM สำหรับประมวลผลภาษาไทย Vision LLM สำหรับวิเคราะห์และเข้าใจภาพ และ Audio LLM สำหรับจดจำและตอบสนองต่อเสียงภาษาไทย ระบบถูกพัฒนาแบบ Open Source เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ร่วมกัน ขับเคลื่อนการพัฒนา AI ไทย และรองรับการใช้งานในทุกภาคอุตสาหกรรม พร้อมให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยี AI ของสังคมไทย

2. Genomics Medicine : การใช้เทคโนโลยีวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ด้านพันธุกรรมมนุษย์ (Genomics Medicine) เพื่อยกระดับการแพทย์ไทย ระบบสามารถวิเคราะห์ข้อมูลทางการแพทย์แบบเดิมร่วมกับข้อมูลพันธุกรรม ช่วยให้แพทย์ระบุตำแหน่งการกลายพันธุ์ที่เป็นสาเหตุของโรคได้แม่นยำ นำไปสู่การวินิจฉัยและวางแผนการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย

3. Hydrogen Economy : สวทช. ขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยีไฮโดรเจนแบบองค์รวม โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการพัฒนาไฮโดรเจนชีวภาพ (Biohydrogen) และไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) จากกระบวนการทางชีวภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นการประยุกต์ใช้ในระบบเศรษฐกิจแบบ BCG ทั้งภาคพลังงาน การขนส่ง และอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการพัฒนายานยนต์ไฮโดรเจน (FCEV) ที่เป็นเทคโนโลยีสะอาดช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

4. การประยุกต์ใช้ AI เพื่อตรวจวัดและระบุไมโครพลาสติกในแหล่งน้ำ : นวัตกรรมตรวจวัดไมโครพลาสติกในแหล่งน้ำที่ประยุกต์ใช้ AI เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการวิเคราะห์ ระบบสามารถจำแนกชนิดพลาสติก (PE, PP, PET, PS และ PVC) และปริมาณได้อย่างรวดเร็วภายใน 1 นาที ด้วยอุปกรณ์แบบพกพาราคาประหยัด ทำให้การติดตามตรวจสอบไมโครพลาสติกในแหล่งน้ำต่างๆ มีประสิทธิภาพและความแม่นยำสูงขึ้น

5. Gunther อุปกรณ์ตรวจจับการเคลื่อนไหว และแอปพลิเคชัน Janine : นวัตกรรมเฝ้าระวังการหกล้มและเคลื่อนไหวผิดท่าสำหรับผู้สูงอายุ ผสานการทำงานระหว่างเซนเซอร์ Gunther IMU ที่ช่วยบ่งชี้ท่าทางและการเคลื่อนไหว และแอปพลิเคชัน Janine ที่ประมวลและแสดงผลแบบเรียลไทม์ โดยใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ในการเรียนรู้ท่าทางจึงไม่ต้องตั้งโปรแกรมเฉพาะ ช่วยให้ผู้สูงอายุและผู้ดูแลติดตามและป้องกันความเสี่ยงต่อการหกล้มและการบาดเจ็บระหว่างการใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แหล่งที่มาข้อมูล / อ่านทั้งหมดได้ที่ : https://mgronline.com/science/detail/9680000019104