Search
Close this search box.

‘บอทโรคข้าว’ แชตบอตวินิจฉัยโรคข้าวเพื่อชาวนาไทย

share to:

Facebook
Twitter

‘บอทโรคข้าว’ แชตบอตวินิจฉัยโรคข้าวเพื่อชาวนาไทย

 

ประเทศไทยผลิตข้าวได้มากกว่า 26 ล้านตันต่อปี เป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกข้าวรายสำคัญอันดับ 4 ของโลก หากแต่รายได้ที่นำกลับเข้าประเทศมากกว่าแสนล้านบาทต่อปีนี้กลับไม่ได้สะท้อนถึงผลกำไรที่เกษตรกรควรได้รับ เพราะชาวนาไทยส่วนใหญ่ยังตกอยู่ในวังวนของการ ‘ทำมากแต่ได้น้อย’ ต้องเผชิญปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ความแปรปรวนของสภาพอากาศ รวมถึงวิกฤตโรคระบาดที่ฉุดรั้งผลผลิตข้าวไทยให้ถดถอยลงทุกที

กลุ่มโปรแกรมเกษตรสมัยใหม่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สนับสนุนทุนในการดำเนินโครงการวิจัย โมบายแอปพลิเคชันเพื่อการวินิจฉัยโรคข้าวโดยใช้การวิเคราะห์ภาพถ่ายและปัญญาประดิษฐ์ให้แก่ทีมวิจัยจาก สวทช. และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อดำเนินการพัฒนา ‘บอทโรคข้าว (Rice Disease Bot)’ แชตบอตสำหรับให้บริการวินิจฉัยโรคข้าวผ่านภาพถ่าย เพื่อให้คำแนะนำในการควบคุมโรคอย่างเหมาะสมและทันท่วงทีแก่เกษตรกร เป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญที่จะช่วยปลดล็อกปัญหาการรับมือกับโรคระบาด ลดต้นทุนการใช้สารเคมีที่เสียไปอย่างไร้ค่า และยกระดับผลผลิตข้าวไทยให้มากขึ้น

โดยการพัฒนาแพลตฟอร์มนี้เริ่มต้นขึ้นในช่วงปี 2562 ด้วยความร่วมมือระหว่างเนคเทค สวทช. กับภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ต้องการสร้าง ‘แพลตฟอร์มกลาง’ เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงเครื่องมือการวินิจฉัยโรคข้าวที่มีประสิทธิภาพ พร้อมได้รับคำแนะนำในการแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็วและเหมาะสม ซึ่งจะช่วยยับยั้งการลุกลามของโรคระบาดในพื้นที่และในภาพรวมของประเทศได้อย่างทันการณ์

จากโจทย์ปัญหาดังกล่าวจึงนำมาสู่การพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม ‘บอทโรคข้าว (Rice Disease Bot)’ ระบบแชตบอตสำหรับให้บริการวินิจฉัยโรคด้วยปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) โดยแพลตฟอร์มนี้ผ่านการออกแบบให้เกษตรกรใช้งานได้ง่ายผ่านแอปพลิเคชันไลน์ ซึ่งส่วนใหญ่ต่างใช้งานจนคุ้นเคยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อเกษตรกรพบเห็นความผิดปกติของต้นข้าวในแปลงนาสามารถส่งข้อมูลให้ระบบวินิจฉัยโรคได้ทันที วิธีการใช้งานเพียงถ่ายภาพรอยโรคที่เกิดขึ้นบนต้นข้าวแล้วส่งภาพเข้าสู่หน้าแชต ระบบจะดึงภาพไปยังคลาวด์ และส่งให้ AI วิเคราะห์โรคด้วยเทคนิคเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning) เมื่อได้ผลแล้วระบบจะส่งผลการวิเคราะห์พร้อมคำแนะนำในการควบคุมโรคอย่างเหมาะสมกลับมารายงานให้เกษตรกรทราบภายใน 3-5 วินาที ช่วยให้เกษตรกรประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบโรคข้าวที่เกิดขึ้นในแปลงนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ในการพัฒนาแพลตฟอร์มได้รับการสนับสนุนด้านการจัดทำชุดข้อมูลสำหรับออกแบบการเรียนรู้ให้แก่ AI โดย อาจารย์และทีมงานจากภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร กำแพงแสน และภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน

ปัจจุบันบอทโรคข้าวให้บริการวิเคราะห์โรคข้าวที่สำคัญในไทยได้แล้วถึง 10 โรค ได้แก่ โรคไหม้ โรคขอบใบแห้ง โรคใบจุดสีน้ำตาล โรคใบขีดสีน้ำตาล โรคใบขีดโปร่งแสง โรคไหม้คอรวง โรคดอกกระถิน โรคใบวงสีน้ำตาล โรคเมล็ดด่าง และโรคใบหงิก โดยเปิดให้เกษตรกร ศูนย์ข้าวชุมชน หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงภาคเอกชน ทดลองใช้บริการแล้วผ่าน ‘กลุ่มบอทโรคข้าวของแต่ละจังหวัด’ ซึ่งแต่ละกลุ่มจะมีผู้เชี่ยวชาญด้านโรคข้าวตรวจทานความถูกต้องของผลการวินิจฉัย รวมถึงช่วยตอบข้อสงสัยและให้คำแนะนำเพิ่มเติมแก่เกษตรกรด้วย ปัจจุบันมีชาวนาทั่วประเทศไทยใช้งานแพลตฟอร์มนี้แล้วมากกว่า 3,000 คน

รายละเอียดเพิ่มเติม: ‘บอทโรคข้าว’ แชตบอตวินิจฉัยโรคเพื่อยับยั้งปัญหาอย่างทันท่วงที