นางปิยนุช วุฒิสอน ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยผลการสำรวจการพัฒนาสถิติทางการประเด็นโมเดลเศรษฐกิจ BCG ในระดับประเทศและ 2 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี และราชบุรี เพื่อจัดทำร่างบัญชีสถิติทางการประเด็นโมเดลเศรษฐกิจ BCG และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 พบว่า ระดับประเทศภาพรวมมูลค่าเศรษฐกิจ BCG ของประเทศไทยปรับลดลงจาก 3.5 ล้านล้านบาทในปี 2561 เหลือ 2.6 ล้านล้านบาทในปี 2564 คนไทย 8.5 ล้านคนมีฐานะดีขึ้นเมื่อพิจารณาจากรายได้ต่อหัวที่สูงกว่า 10,000 เหรียญสหรัฐต่อปีระหว่างปี 2562 – 2564 และความเหลื่อมล้ำลดลง ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนของกลุ่มประชากรที่มีฐานะเศรษฐกิจสูงสุดร้อยละ 10 ต่อรายจ่ายต่อคนต่อเดือนของกลุ่มที่มีฐานะต่ำสุดร้อยละ 40 ปรับลดลงจาก 6.15 เท่าในปี 2560 เหลือ 5.68 เท่า ในปี 2564 มีผู้ที่ได้รับการพัฒนาทักษะ BCG รวมกันกว่า 6 แสนคน สิ่งที่ต้องเร่งพัฒนา ได้แก่ ลดการใช้ทรัพยากร เพิ่มพื้นที่ป่า ลดการนำเข้าเทคโนโลยีและนวัตกรรมและการนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และสุขภาพ จังหวัดจันทบุรีมีสัดส่วนของเศรษฐกิจ BCG ร้อยละ 60 ส่วนจังหวัดราชบุรีมีสัดส่วนร้อยละ 30 ถือว่ามีทิศทางการพัฒนาที่ดีขึ้น
สำหรับการพัฒนาสินค้าของจังหวัดราชบุรี ได้แก่ มะพร้าวน้ำหอม ทุเรียน มันสำปะหลัง สุกร และกุ้งก้ามกราม และจังหวัดจันทบุรี ได้แก่ ทุเรียน มังคุด และกุ้งขาว พบว่า สินค้ามีจุดเด่นที่คล้ายคลึงกันคือเป็นสินค้าที่มีสัดส่วนสูงต่อผลิตภัณฑ์จังหวัด เช่น ทุเรียนมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 70 ของ GPP ภาคเกษตร แต่มีความท้าทายคือการพึ่งพาตลาดส่งออกโดยเฉพาะจีน การบริหารจัดการน้ำ และป้องกันปัญหาการแย่งชิงน้ำในช่วงหน้าแล้ง
ที่มาภาพ/ข้อมูล : https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG230521105911336