อบต.บุ่งคล้า จัดโครงการกำหนดเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาและสัตว์น้ำในแม่น้ำสาขา ห้วยสหาย เพื่อบำเพ็ญกุศลถวายแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ ให้ทรงหายจากพระอาการประชวร และสานต่อพระปณิธานพระองค์ เพื่อสร้างความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืนแก่ชาวบุ่งคล้า
เช้าวันอาทิตย์ที่ 8 มกราคม 2566 ณ ลำห้วยสหาย ในพื้นที่หมู่ 1,2 และหมู่ 3 ตำบลบุ่งคล้า อำเภอบุ่งคล้า จังหวัดบึงกาฬ นายนริศ อาจหาญ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบุ่งคล้า พร้อมสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เครือข่ายภาคประชาสังคม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จัดโครงการกำหนดพื้นที่อนุรักษ์พันธุ์ปลาในแม่น้ำสาขา (ห้วยสหาย) ภายใต้โครงการสร้างความเข้มแข็งกลุ่มเครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่ 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขง จังหวัดบึงกาฬ โดยได้รับเกียรติจาก นายวีรชาติ บุญมี ปลัดอาวุโสบุ่งคล้า เป็นประธานเปิดโครงการฯ
สำหรับช่วงเช้ามีพิธีสงฆ์ โดยได้รับความเมตตาจากเจ้าคณะอำเภอบุ่งคล้า เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ เจริญพระพุทธมนต์ พร้อมนำผู้เข้าร่วมเจริญจิตตภาวนาถวายพระพรแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา
ให้ทรงหายจากพระอาการประชวรในเร็ววัน จากนั้นประธานพร้อมคณะหัวหน้าส่วนราชการ อาทิ ประมงจังหวัดบึงกาฬ ประชาสัมพันธ์จังหวัดบึงกาฬ รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดบึงกาฬ อบต.บุ่งคล้า และประชาชนร่วมในพิธีเปิดป้าย “ประกาศ กำหนดเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาและสัตว์น้ำ”
การจัดโครงการกำหนดเขตพื้นที่อนุรักษ์พันธุ์ปลาฯ ณ ลำห้วยสหาย ต.บุ่งคล้า อ.บุ่งคล้า จ.บึงกาฬ ถือเป็นโครงการต้นแบบในการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำและพืชพันธุ์น้ำให้คงอยู่อย่างยั่งยืน โดยกำหนดพื้นที่เป็นระยะทาง 700 เมตร โดยใช้ศาสตร์ของพระราชาในการสร้างพื้นที่กักเก็บน้ำให้ชาวบุ่งคล้าได้ใช้ประโยชน์ และต่อยอดนวัตกรรมด้านการเกษตรกรตามยโยบาย BCG เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในการอุปโภคและบริโภค อันเนื่องจาก พื้นที่อำเภอบุ่งคล้านั้น น้ำโขงไม่สามารถเข้ามาถึงยังพื้นที่อยู่อาศัยของประชากรส่วนใหญ่ ทำให้เกษตรกรต้องสูบน้ำเพื่อทำการเกษตร และเจอกับวิกฤน้ำประปาขาดแคลน ทำให้ประชากรพันธุ์สัตว์น้ำ พันธุ์พืชลดลงอย่างมาก ส่วนหนึ่งเกิดจากการก่อสร้างเขื่อนในพื้นที่ต้นน้ำโขง อาทิ สปป.ลาว ทำให้ระดับปริมาณน้ำโขงลดลง กอปกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป และพฤติกรรมการจับปลาผิดฤดูกาล ทำให้พันธุ์สัตว์น้ำลดลง
ทั้งนี้มีการเสวนาจากคณะผู้จัดโครงการ ผู้เกี่ยวข้อง อาจารย์ ผู้นำชุมชน และภาคประชาชน ร่วมกัน เพื่อสร้างองค์ความรู้และแลกเปลี่ยนข้อมูลให้กับชุมชน และเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติด้านน้ำ เพราะพื้นที่บุ่งคล้าอยู่ในเขตแผ่นดินรอยเลื่อนท่าแขก โดยในพื้นที่มีเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าและพันธุ์พืชอยู่หลายแห่ง ทั้งนี้จะมีโครงการขยายพันธุ์ต้นไคร้ เพื่อให้เป็นแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยของพันธุ์สัตว์น้ำ ปลาน้ำโขงให้อุดมสมบูรณ์ และจะมีการลงพื้นที่เยี่ยมชมและศึกษาข้อมูลโครงการดังกล่าวฯ จากกลุ่มเครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่ 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขง เพื่อต่อยอดโครงการดังกล่าว ด้านการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ให้กว้างขวางต่อไป
ที่มาภาพ/ข้อมูล : https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG230108142439078