Search
Close this search box.

มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ที่เกี่ยวข้องกับ BCG วันที่ 8 มีนาคม 2565

share to:

Facebook
Twitter

1. เรื่อง ขอขยายระยะเวลาโครงการสนับสนุนผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมุ่งสู่อุตสาหกรรมสีเขียวโดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ (Greening Industry Through Low Carbon Technology Application for SMEs)

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบขยายระยะเวลาดำเนินโครงการสนับสนุนผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมุ่งสู่อุตสาหกรรมสีเขียวโดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ (Greening Industry Through Low Carbon Technology Application for SMEs) ออกไปถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2566 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง
เดิมคณะรัฐมนตรีมีมติ (6 กุมภาพันธ์ 2561) เห็นชอบให้กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) และองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) ดำเนินโครงการสนับสนุนผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มุ่งสู่อุตสาหกรรมสีเขียวโดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ (Greening Industry through Low Carbon Technology Application for SMEs) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมในประเทศไทยในการปรับปรุงความสามารถในการแข่งขันและมุ่งไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียว ส่งเสริมธุรกิจอุตสาหกรรมให้ดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ลดการใช้พลังงาน ตลอดจนการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศในระยะยาว โดย อก. และกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (Global Environment Facility: GEF) ตกลงที่จะสนับสนุนเงินเพื่อดำเนินโครงการฯ และ ธพว. เป็นหน่วยงานร่วมดำเนินการจ่ายเงินกู้ สำหรับ SMEs ที่เข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งในส่วนของ GEF มีกำหนดระยะเวลาสนับสนุนเงิน 3 ปี 6 เดือน (สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2564) แต่โดยที่โครงการฯ ยังมีกิจกรรมที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ (เช่น การปรับปรุงเครื่องจักรอุปกรณ์ของ SMEs) เนื่องจากมีข้อจำกัดในการดำเนินโครงการฯ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่ง UNIDO ในฐานะหน่วยดำเนินโครงการฯ ได้ใช้เงินที่ได้รับสนับสนุนจาก GEF ไป จำนวน 0.78 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (คงเหลือ 1.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยในส่วนของงบดำเนินการที่อยู่ในรูปแบบเงินสด (In – Cash) และที่ไม่อยู่ในรูปของเงินสด (In – Kind) จาก อก. จำนวน 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และวงเงินสินเชื่อสำหรับ SMEs จาก ธพว. จำนวน 7.36 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อก. แจ้งว่า ยังไม่ได้มีการเบิกจ่าย และโดยที่ระยะเวลาที่ GEFให้การสนับสนุนงบประมาณได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ดังนั้น เพื่อให้สามารถดำเนินโครงการฯ ได้สำเร็จและบรรลุวัตถุประสงค์ อก. และ UNIDO จึงเห็นควรให้มีการขยายระยะเวลาโครงการฯ ออกไป จากเดิมสิ้นสุดโครงการฯ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 เป็นสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2566 (18 เดือน)

2. เรื่อง สรุปมติการประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2565
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) เสนอ สรุปมติการประชุม กนป. ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 [ซึ่งเป็นการดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ พ.ศ. 2551 ข้อ 7 (1) ที่กำหนดให้ กนป. มีอำนาจและหน้าที่กำหนดนโยบายเกี่ยวกับปาล์มน้ำมัน และเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบหรือพิจารณาเพื่อให้ส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติ] โดยมีสรุปผลการประชุมที่สำคัญ ดังนี้

1. สถานการณ์การผลิต การตลาดปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ปี 2565 ที่ประชุม ฯ รับทราบมติการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2565 ที่ได้เห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วที่ปรับตัวสูงขึ้นในระยะสั้น ตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ – 31 มีนาคม 2565 โดยกำหนดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันให้เป็นไปตามสัดส่วนการผสม
ของกลุ่มน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ดังนี้

ชนิดของน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว สัดส่วนการผสม
ไม่ต่ำกว่า
(ร้อยละโดยปริมาตร)
ไม่สูงกว่า
(ร้อยละโดยปริมาตร)
บี 7 5 7
ธรรมดา 5 10
บี 20 5 20

2. โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ปี 2564-2565  ที่ประชุมฯ เห็นชอบการดำเนินโครงการดังกล่าว โดยมีระยะเวลาการจ่ายเงิน เดือนกันยายน 2564-สิงหาคม 2565 กรอบวงเงินดำเนินการ 7,660  ล้านบาท ซึ่งคงหลักการเช่นเดียวกับโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ปี 2562-2563 และปี 2564 (มกราคม-สิงหาคม 2564) และกำหนดให้เริ่มจ่ายเงินชดเชยประกันรายได้งวดแรกให้แก่เกษตรกรตั้งแต่เดือนกันยายน 2564  เป็นต้นไป และมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอโครงการดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป

3. โครงการผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อลดผลผลิตส่วนเกิน ปี 2565  ที่ประชุมฯ เห็นชอบการดำเนินโครงการดังกล่าว โดยมีเป้าหมายการส่งออกน้ำมันปาล์ม 150,000 ตัน ภายในเดือนกันยายน 2565 กรอบวงเงินดำเนินการ 309 ล้านบาท เพื่อลดปริมาณสต็อกน้ำมันปาล์มดิบส่วนเกินและรักษาเสถียรภาพราคาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มในประเทศและมอบหมายให้ พณ. หารือร่วมกับสำนักงบประมาณเกี่ยวกับรายละเอียดและกรอบวงเงินงบประมาณก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป ทั้งนี้ จะพิจารณาสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการสำหรับการส่งออกเฉพาะน้ำมันปาล์มดิบ ในอัตราไม่เกิน 2 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อระดับสต็อกน้ำมันปาล์มดิบในประเทศสูงกว่า 300,000 ตัน และราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศสูงกว่าราคาตลาดโลก

4. การขับเคลื่อนมาตรการและแนวทางการเพิ่มมูลค่าปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ที่ประชุมฯ เห็นชอบผลิตภัณฑ์เป้าหมายและมาตรการและแนวทางขับเคลื่อนการเพิ่มมูลค่าปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มเพิ่มเติมจากเป้าหมายเดิม จำนวน 6 ผลิตภัณฑ์1 เป็น 8 ผลิตภัณฑ์ โดยเพิ่มน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ กรีนดีเซล และน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพ ไบโอเจ็ต ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการส่งเสริมเพื่อรองรับการแก้ปัญหาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งระบบ

5. การทบทวนมาตรการนำผ่านสินค้าน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ พิกัดอัตราศุลกากร 1511.90 ตามคำขอของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ที่ประชุมเห็นชอบหลักการทบทวนมาตรการดังกล่าว โดยให้ พณ. ออกหนังสือรับรองประกอบการนำผ่านน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์  พิกัดอัตราศุลกากร 1511.90 จากมาเลเซียผ่านด่านศุลกากรสะเดา จังหวัดสงขลาและด่านศุลกากรหนองคาย จังหวัดหนองคายไปยัง สปป. ลาว เพื่อจำหน่ายภายในประเทศ ในปริมาณไม่เกิน 5,000 ตันต่อปี โดยผู้ขอนำผ่านต้องแจ้งให้ พณ. ทราบก่อนการนำผ่านอย่างน้อย 1 เดือน และมอบหมาย พณ. โดยกรมการค้าต่างประเทศออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ หากพบว่ามีสินค้ารั่วไหลหรือตกหล่นภายในประเทศให้ดำเนินการทบทวนมาตรการดังกล่าวโดยเร็ว รวมทั้งให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำกับ ดูแล และตรวจสอบการนำผ่านเพื่อกำกับ ดูแล  และตรวจสอบสินค้าไม่ให้เกิดการรั่วไหลหรือตกหล่นภายในประเทศด้วย

___________________
1คณะรัฐมนตรีมีมติ (8 มิถุนายน 2564) รับทราบมติการประชุม กนป. ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2564 ซึ่งได้เห็นชอบผลิตภัณฑ์เป้าหมายและมาตรการและแนวทางขับเคลื่อนการเพิ่มมูลค่าปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม จำนวน 6 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ (1) ผลิตภัณฑ์สารหล่อลื่นพื้นฐาน (2) น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพ (3) สารซักล้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (4) น้ำมันหล่อลื่นและจาระบีชีวภาพ (5) การผลิตพาราฟิน และ (6) สารกำจัดศัตรูพืช/แมลง

3. เรื่อง ผลการประชุมคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) ครั้งที่ 1/2565

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) เสนอ ผลการประชุม กพย. ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2565 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นประธาน [เป็นการดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน พ.ศ. 2556 ข้อ 9 (10) ที่กำหนดให้ กพย. รายงานผลการดำเนินงานต่อคณะรัฐมนตรีอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

1. ผลการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน
1.1 การดำเนินการตามแผนการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับประเทศไทย (Thailand’s SDG Roadmap) ที่ประชุมได้มีมติรับทราบผลการดำเนินงานตามแผนการขับเคลื่อนฯ ซึ่งประกอบด้วย (1) การสร้างความตระหนักรู้ (2) ความเชื่อมโยงระหว่างเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) กับแผน 3 ระดับของประเทศ (3) กลไกการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน (4) การดำเนินงานเพื่อบรรลุ SDGs (5) ภาคีการพัฒนา และ (6) การติดตามประเมินผลการขับเคลื่อน SDGs โดยมีการดำเนินการ เช่น การจัดให้มีระบบสาธารณสุขถ้วนหน้าและอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งทำให้ไทยมีความคืบหน้าสำคัญตาม SDGs เป้าหมายที่ 3 และการจัดทำระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (TPMAP) ร่วมกับกลไกคณะกรรมการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ที่สนับสนุนการลดความเหลื่อมล้ำตาม SDGs เป้าหมายที่ 10 ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ ได้มอบหมายให้ สศช. ในการประสานภาคีการพัฒนาเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
1.2 การรายงานการทบทวนการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 โดยสมัครใจของไทย (Voluntary National Review: VNR) ประจำปี 2564 ที่ประชุมรับทราบรายงาน VNR ซึ่งรองนายกรัฐมนตรี (นายดอน ปรมัตถ์วินัย) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้แทนรัฐบาลไทยกล่าวรายงานต่อที่ประชุมหารือทางการเมืองระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ประจำปี ค.ศ. 2021 โดยได้เน้นย้ำถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และการเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกดิจิทัล รวมทั้งเน้นย้ำความสำคัญของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความสมดุล ทั้งนี้ ไทยได้  น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้และพัฒนาให้สอดคล้องกับบริบทในปัจจุบันในรูปแบบของโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model: BCG Model) เพื่อนำไปสู่การบรรลุ SDGs นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เน้นย้ำการสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นในการขับเคลื่อน SDGs รวมทั้งการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ในรูปแบบที่เข้าใจง่ายเพื่อสื่อสารกับประชาชนทั่วไปและเผยแพร่ไปสู่สถาบันการศึกษาในระดับพื้นที่อย่างทั่วถึง
1.3 การปรับปรุงคณะอนุกรรมการและคณะทำงานภายใต้ กพย. ที่ประชุมเห็นชอบการยกเลิกคณะอนุกรรมการภายใต้ กพย. จำนวน 2 คณะ ได้แก่ (1) คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและ (2) คณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผลการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อลดความซ้ำซ้อนในภารกิจและงบประมาณ และได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 2 คณะ และคณะทำงาน 1 คณะ ดังนี้ (1) คณะอนุกรรมการภาคเอกชนเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน (2) คณะอนุกรรมการพลังเยาวชนขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน และ (3) คณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ของไทยในกรอบสหประชาชาติ

2. แนวทางการขับเคลื่อน SDGs ของไทยในระยะต่อไป ที่ประชุมเห็นชอบให้การขับเคลื่อน ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินงานเป้าหมาย SDGs สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติโดยยึดหลักวงจรบริหารคุณภาพ (Plan-Do-Check-Act: PDCA) ประกอบด้วย
2.1 วางแผน (Plan) โดยเชื่อมโยง SDGs กับยุทธศาสตร์ชาติและแผนระดับที่ 2 โดยเฉพาะแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและห่วงโซ่คุณค่าของประเทศ เพื่อเป็นกรอบในการวางแผนการดำเนินงานตามภารกิจหน้าที่ของหน่วยงาน โดยยึดเป้าหมายการพัฒนาประเทศเป็นเป้าหมายการทำงานร่วมกันของหน่วยงาน
2.2 ลงมือดำเนินการ (Do) การจัดทำโครงการ/การดำเนินงานโดยใช้ข้อมูลจากการวิเคราะห์ห่วงโซ่คุณค่าที่ส่งผลให้บรรลุเป้าหมายประกอบการดำเนินการเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและเป้าหมายย่อยของ SDGs ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน ได้แก่ การจัดทำแผน การจัดทำโครงการ/การดำเนินงาน และการปฏิบัติในระดับพื้นที่
2.3 ติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผลการดำเนินการ (Check) โดยติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลความก้าวหน้าของการขับเคลื่อน SDGs รวมถึงการจัดการข้อมูล และการรายงานผลสัมฤทธิ์การดำเนินงานในระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) รวมทั้งจัดทำสรุปผลการดำเนินการประจำปีเพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์และความก้าวหน้าของการขับเคลื่อนเพื่อบรรลุ SDGs และเสนอ กพย. รวมทั้งเผยแพร่ต่อสาธารณชน
2.4 ปรับปรุงการดำเนินการ (Act) วิเคราะห์และประมวลข้อมูลจากการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินงาน เพื่อนำไปปรับปรุงและยกระดับการดำเนินการเพื่อบรรลุ SDGs รวมถึงพัฒนากระบวนการดำเนินงานและยกระดับมาตรฐานการจัดทำโครงการให้มีประสิทธิภาพเพื่อนำไปสู่การบรรลุ SDGs ในทุกมิติอย่างเป็นรูปธรรม

4. เรื่อง การเข้าร่วมเป็นภาคีของไทยในสถาบันวัคซีนนานาชาติ (International Vaccine Institute:IVI)

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีสถาบันวัคซีนนานาชาติ (International Vaccine Institute: IVI) อย่างสมบูรณ์ และอนุมัติให้ประเทศไทยสนับสนุนงบประมาณแก่ IVI ปีละ 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี หมวดเงินอุดหนุนของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป โดยมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จัดทำสัตยาบันสาร (Instrument of Ratification) เพื่อการเข้าร่วมเป็นภาคี IVI อย่างสมบูรณ์ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

1. IVI จัดตั้งขึ้นโดยข้อริเริ่มของสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความมั่นคงในการเข้าถึงวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย การวิจัย พัฒนา และปรับปรุงวัคซีนชนิดใหม่ รวมถึงการเสริมสร้างศักยภาพของประเทศกำลังพัฒนาในด้านการพัฒนา การผลิต และการนำเข้าวัคซีน ซึ่งเรื่องนี้เป็นการเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบการเข้าเป็นภาคีสถาบันวัคซีนนานาชาติของประเทศไทยโดยสมบูรณ์ ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามในข้อตกลงว่าด้วยการจัดตั้งสถาบันวัคซีนนานาชาติ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2539 แต่ยังมิได้ให้สัตยาบันจึงยังไม่ได้เป็นภาคีโดยสมบูรณ์ ซึ่งการเข้าเป็นภาคีดังกล่าวจะส่งผลให้ประเทศไทยได้รับโอกาสในการพัฒนาและขยายความร่วมมือด้านวัคซีนทั้งในและนอกประเทศเป็นการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรด้านวัคซีนของไทย รวมถึงเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ในระดับทวิภาคีกับสาธารณรัฐเกาหลีอีกด้วย โดยเมื่อประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีสถาบันวัคซีนนานาชาติแล้ว จะต้องสนับสนุนงบประมาณให้แก่สถาบันวัคซีนนานาชาติปีละ 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3,250,000 บาท ตามอัตราแลกเปลี่ยน ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2565) โดยใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี หมวดเงินอุดหนุนของกระทรวงสาธารณสุข เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป ทั้งนี้เมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว กระทรวงการต่างประเทศจะเป็นผู้จัดทำสัตยาบันสารเพื่อเข้าร่วมเป็นภาคีต่อไป

2. การที่ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคี IVI อย่างสมบูรณ์จะช่วยเสริมสร้างโอกาสในการศึกษา พัฒนาความรู้และศักยภาพในด้านการวิจัยและพัฒนาวัคซีนทั้งภายในและภายนอกประเทศจากโครงการความร่วมมือต่าง ๆ เช่น โครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนสำหรับการทดลองในมนุษย์ โครงการทดลองในห้องปฏิบัติการ ศูนย์เฝ้าระวังโรครวมถึงได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านวัคซีน การพัฒนาบุคลากรด้านวัคซีนผ่านการศึกษาระบบการทำงานและการบริหารจัดการภายใต้ IVI และการฝึกอบรมในโครงการระยะสั้น ซึ่งจะเป็นการสร้างเครือข่ายด้านวัคซีน รวมถึงยกระดับความสัมพันธ์กับ IVI ประเทศสมาชิกให้มากขึ้น โดยที่ IVI มีความร่วมมือกับหลายองค์กรในการพัฒนาวัคซีนและแนวทางการรักษาโรค จึงสอดคล้องกับนโยบายวัคซีนแห่งชาติของประเทศไทยซึ่งสนับสนุนการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่หลากหลายในด้านการวิจัย พัฒนาและผลิตวัคซีน เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านวัคซีนของประเทศไทยมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของโลก

ดูข้อมูลทั้งหมดได้ที่ : https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/52329

บทความที่เกี่ยวข้อง