แม้ว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าตามมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism) หรือ CBAM ของไทยไปสหภาพยุโรปจะมีมูลค่าไม่มาก แต่การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทย มีองค์ความรู้ในการจัดทำข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดกระบวนการผลิต และปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตไปสู่การดำเนินธุรกิจคาร์บอนต่ำ
ไม่เพียงแต่เป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับมาตรการ CBAM อย่างเต็มรูปแบบเท่านั้น แต่ถือเป็นโอกาสในการยกระดับการเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการ และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ให้สามารถปรับตัวรองรับกับสถานการณ์โลกและสถานการณ์ของประเทศคู่ค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้พร้อมรับมือกับการที่หลายประเทศเริ่มทยอยออกมาตรการทางการค้าที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และสอดคล้องกับแนวโน้มการค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่จะทวีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต
พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงการติดตามสถานการณ์ นโยบาย และมาตรการสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้า ซึ่งในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมาสหภาพยุโรปได้บังคับใช้มาตรการ CBAM อย่างเป็นทางการกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งอยู่ในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน พร้อมแนะผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไทย เตรียมความพร้อมรองรับการบังคับใช้มาตรการอย่างเต็มรูปแบบ ตลอดจนปรับตัวสู่การเติบโตสังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน
จากการติดตามความคืบหน้าของมาตรการ CBAM ที่เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการ Fit For 55 ภายใต้นโยบายแผนปฏิรูปสีเขียว (European Green Deal) ของสหภาพยุโรป สนค.พบว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมและขจัดข้อได้เปรียบด้านราคาของสินค้าที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงซึ่งนำเข้ามาจากประเทศที่มีมาตรฐานด้านก๊าซเรือนกระจกเข้มงวดน้อยกว่า โดยจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกับสินค้านำเข้าประเภทที่มีการปล่อยคาร์บอนจำนวนมากในกระบวนการผลิต และมีความเสี่ยงอย่างมากต่อการรั่วไหลของก๊าซเรือนกระจก ครอบคลุมสินค้า 6 กลุ่ม ได้แก่
(1) เหล็กและเหล็กกล้า
(2) อลูมิเนียม
(3) ซีเมนต์
(4) ปุ๋ย
(5) ไฟฟ้า
(6) ไฮโดรเจน (ครอบคลุมสินค้าปลายน้ำบางรายการ อาทิ นอตและสกรูที่ทำจากเหล็กและเหล็กกล้า และสายเคเบิลที่ทำจากอลูมิเนียม)
ที่มาข้อมูล/อ่านทั้งหมดได้ที่ : https://www.salika.co/2024/01/12/cbam-and-thai-entrepreneurs/