หลายคนทราบกันดีว่า ‘ ยาง พารา’ หนึ่งในพืชเศรษฐกิจหลักของไทย และเป็นผู้ผลิตเบอร์ต้นๆ ของโลก มีเกษตรกรชาวสวนยางที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศกว่า 1.6 ล้านครัวเรือน หากดูจากมูลค่ารวมอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องสามารถสร้างรายได้ในแต่ละปีคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 9.6 แสนล้านบาท
ที่ผ่านมาเกษตรกรต้องเผชิญกับปัญหาราคายางผันผวน มากไปกว่านั้นนับจากวันนี้อุตสาหกรรมยางต้องปรับให้ทันตามกฎระเบียบการค้าโลกใหม่ โดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมและเรื่องของคาร์บอน
พรสุรีย์ กอนันทา รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายกิจการองค์กร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า เชฟรอนในฐานะบริษัทพลังงานที่บุกเบิกและพัฒนาธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในไทยมากว่า 6 ทศวรรษ มีนโยบายดำเนินธุรกิจควบคู่กับการทำงานร่วมกับชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน
จังหวัดสงขลาเปรียบเหมือนบ้านหลังที่สองของเชฟรอนที่ผูกพันกันมายาวนานกว่า 40 ปี จึงมุ่งพัฒนาต่อยอดซึ่งโครงการส่วนใหญ่เป็นโครงการระยะยาว ที่เน้นการพัฒนาองค์ความรู้ สร้างต้นแบบ อย่างโครงการก๊าซชีวภาพสหกรณ์ยางพาราสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
“เนื่องจากสงขลาทำอาชีพเกษตรกรยางพาราเป็นอาชีพหลัก และการแปรรูปยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของจังหวัดและประเทศได้เป็นอย่างมาก”
พรสุรีย์บอกอีกว่า สิ่งที่ควรจะเดินหน้าคือการผลิตยางแผ่นรมควันซึ่งใช้ไม้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง ทำให้มีต้นทุนที่สูงและบางครั้งไม่ได้คุณภาพ อีกทั้งกระบวนการผลิตยังปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในช่วง พ.ศ. 2558 เชฟรอนจึงร่วมกับสถาบันวิจัยระบบพลังงาน (PERIN) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทำโครงการเพื่อส่งเสริมกระบวนการผลิตยางแผ่นรมควันที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
โดยเปลี่ยนน้ำเสียให้เป็นก๊าซชีวภาพ และใช้ก๊าซชีวภาพไปรมควันยางแผ่นเพื่อช่วยประหยัดเชื้อเพลิงไม้ฟืน ตลอดจนนำระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ในการผลิตยางแผ่นและการดำเนินงานของสหกรณ์ นำร่องต้นแบบ ณ สหกรณ์บ้านทรายขาว และสหกรณ์ยูงทอง
“ที่สำคัญคือโครงการนี้จะตอบโจทย์การพัฒนาสงขลาของภาครัฐที่มุ่งให้เป็นเมืองเกษตรกรรมสีเขียวมูลค่าสูง และสอดคล้องกับหลักการของแบบจำลองโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน BCG ของประเทศอีกด้วย”
ที่มาภาพ/ข้อมูล: รายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://thestandard.co/chevron-songkhla-low-carbon-rubber-city-bcg/