Search
Close this search box.

พาณิชย์ ชี้ Climate Tech โอกาสธุรกิจไทย ดันเศรษฐกิจสีเขียวอย่างยั่งยืน

share to:

Facebook
Twitter

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ.สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น และก่อให้เกิดผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อผู้คน ภาครัฐและภาคธุรกิจ จึงมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Tech ซึ่งหมายถึง ผลิตภัณฑ์ บริการ หรือเทคโนโลยีดิจิทัลขั้นสูงที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้สำหรับลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ บรรเทาหรือเพิ่มความยืดหยุ่นต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

และสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำได้อย่างยั่งยืนทุกประเทศและทุกภาคส่วนต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเร่งด่วน ซึ่ง Climate Tech เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้ จากรายงานของบริษัทที่ปรึกษา McKinsey คาดการณ์ว่า Climate Tech อาจช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ร้อยละ 60 ของปริมาณการปล่อยทั้งหมด

ทั้งนี้ Climate Tech ยังเป็นภาคธุรกิจที่กำลังเติบโต และจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั่วโลกในอนาคต โดย Statista ซึ่งเป็นบริษัทที่รวบรวมข้อมูลสถิติหลายประเด็นทั่วโลก คาดการณ์ว่า ในปี 2566 ตลาด Climate Tech ทั่วโลก มีมูลค่าประมาณ 2.03 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในอีก 10 ปีข้างหน้า ทำให้ในปี 2576 อาจมีมูลค่าสูงถึง 1.83 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย ร้อยละ 24.5 ต่อปี

นอกจากนี้ McKinsey ระบุว่า Climate Tech จะช่วยพัฒนาศักยภาพและโอกาสทางการค้าและการลงทุนของแต่ละประเทศ เนื่องจาก Climate Tech อาจช่วยดึงดูดเงินลงทุนทั่วโลกได้มากถึง 1.5 – 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ภายในปี 2567 การเติบโตของตลาด Climate Tech เป็นผลมาจากหลายปัจจัย อาทิ

  1. ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้น กระตุ้นความต้องการเทคโนโลยีสำหรับป้องกันและแก้ไขปัญหา
  2. ความตระหนักของผู้บริโภค ทำให้ความต้องการสินค้าหรือบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น
  3. นโยบายและมาตรการภาครัฐ ที่สนับสนุนการเงิน ลดหย่อนภาษี ส่งเสริมการลงทุน อำนวยความสะดวกด้านกฎหมาย รวมถึงกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
  4. กลไกราคาคาร์บอน ซึ่งช่วยกระตุ้นภาคเอกชนให้หาแนวทางในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
  5. โครงสร้างพื้นฐานที่รองรับ Climate Tech โดยเฉพาะระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) โครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง และระบบขนส่งสาธารณะ

แหล่งที่มาภาพและข้อมูล/อ่านเพิ่มเติม: https://www.thansettakij.com/business/economy/597864