Search
Close this search box.

อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ร่วมเป็นสักขีพยานการ MOU ซื้อ-ขายผลผลิตเกษตร ยกระดับรายได้เกษตรกร หนุนการเชื่อมโยงธุรกิจเกษตรและสร้างมูลค่า เพิ่มตลอดห่วงโซ่คุณค่า

share to:

Facebook
Twitter

วันที่ 10 พ.ย.65 ณ โรงแรมดิอิมพีเรียล โฮเต็ล แอนด์คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการซื้อ-ขายผลผลิตการเกษตร ปีการผลิต 2565/66 ภายใต้โครงการจัดการผลผลิต เพื่อยกระดับรายได้เกษตรกร และเพิ่มศักยภาพสถาบันเกษตรอย่างยั่งยืน ระหว่างสหกรณ์การเกษตร กับผู้ประกอบการสินค้าเกษตร ในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง 9 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดนครสวรรค์/กำแพงเพชร/พิจิตร/เพชรบูรณ์/สุโขทัย/พิษณุโลก/อุตรดิตถ์/อุทัยธานี และจังหวัดตาก โดยมีนายรณรงค์ นครจินดา รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก และผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ร่วมเป็นสักขีพยาน

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า ขอชื่นชมการดำเนินโครงการจัดการผลผลิตเพื่อยกระดับรายได้เกษตรกร และเพิ่มศักยภาพสถาบันเกษตรอย่างยั่งยืน ถือว่าเป็นโครงการที่ดี และมีประโยชน์ต่อพี่น้องเกษตรกร ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้มีแนวทางในการส่งเสริมสนับสนุนสถาบันเกษตรกร ให้เกิดความมั่นคง มีความเข้มแข็ง สนับสนุนอุปกรณ์การตลาดที่จำเป็น ให้แก่สหกรณ์การเกษตรที่มีศักยภาพ ทำหน้าที่ในการเชื่อมโยงสินค้าเกษตร สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร และช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร

นายภูมิ เกลียวศิริกุล ผู้อำนวยการสำนักงาน ธ.ก.ส.ฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือตอนล่าง กล่าวว่า ธกส.เล็งเห็นความเดือนร้อนของเกษตรกรในพื้นที่ จึงได้นำนโยบายจากทางรัฐบาล และแผนยุทธศาสตร์ของธนาคารด้านการฟื้นฟูพัฒนา ยกระดับสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจระดับครัวเรือน และการพัฒนาศักยภาพชุมชนแบบบูรณาการเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน ภายใต้ BCG Model พร้อมดำเนินการโครงการ “จัดการผลผลิตเพื่อยกระดับรายได้เกษตรกรและเพิ่มศักยภาพสถาบันเกษตรกรอย่างยั่งยืน ” โดยได้วิเคราะห์ปัญหา อุปสรรคของเกษตรกรลูกค้า สถาบันเกษตรกรที่เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ รวมถึงภาคเอกชนที่มีศักยภาพในพื้นที่ รวมถึงมองเห็นโอกาสและจุดแข็ง ของพื้นที่การเกษตรในภาคเหนือตอนล่าง ที่เป็นแหล่งผลิตพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ อาทิ ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย เป็นต้น รวมทั้งมีเครือข่ายเกษตรกร สถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการด้านสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพตั้งแต่ระดับชุมชนไปจนถึงระดับประเทศอยู่เป็นจำนวนมาก จึงเกิดแนวคิดในการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตของสินค้าเกษตร ให้เกิดมูลค่าเพิ่มแก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ภายใต้แนวคิด “แก้หนี้ แก้จน ก้าวพ้นวิกฤติ” โดย ธ.ก.ส.ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงพร้อมสนับสนุนเงินทุนตลาดห่วงโซ่ โดยอาศัยจุดแข็งด้านการเกษตรในพื้นที่ นำนโยบายรัฐบาลและธนาคาร ในการปิดจุดอ่อน แก้ไขปัญหา สร้างโอกาสให้แก่เกษตรกรต้นน้ำ สถาบันเกษตรกรที่เป็นกลางน้ำและผู้ประกอบการปลายน้ำ มาจับคู่ธุรกิจในรูปแบบ Business Matching สนับสนุนสินเชื่อผ่อนปรนของธนาคารและสินเชื่อตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อช่วยลดภาระต้นทุนการผลิต การขนส่ง สร้างมูลค่าเพิ่ม

ทั้งนี้ กิจกรรมสำคัญในวันนี้คือ การลงนามในบันทึกความร่วมมือ (MOU) ซึ่งเป็นการร่วมมือกันในการเชื่อมโยงธุรกิจ เพื่อสร้างประโยชน์เพิ่มแก่เกษตรกรผู้ผลิตให้มีตลาดสินค้าเกษตรรองรับอย่างแน่นอน ได้รับราคาอย่างเป็นธรรม โดยมีสถาบันเกษตรกรทำหน้าที่ในการรวบรวมผลผลิต ปรับปรุงคุณภาพขนส่ง พร้อมส่งมอบผลผลิตการเกษตรให้แก่ผู้ประกอบการโรงสีข้าว ลานมันสำปะหลัง ผู้ประกอบการรับซื้อข้าวโพด และยาสูบ เพื่อแปรรูปเป็นสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ โดยคำนึงถึงการออกแบบและบริหารจัดการตามศักยภาพแต่ละพื้นที่ ใน 9 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง หรือ Design And Management By Area การดำเนินโครงการดังกล่าวจะสามารถช่วยยกระดับราคาสินค้าเกษตรให้สูงขึ้น ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น สถาบันเกษตรกรมีความเข้มแข็งเป็นที่พึ่งของเกษตรกรสมาชิกได้ ผู้ประกอบการได้ผลผลิตการเกษตรตรงตามความต้องการและปริมาณที่เพียงพอต่อกำลังการผลิตที่มีอย่างเต็มประสิทธิภาพต่อไป คาดว่าจะมีผลผลิตเกษตรที่ผ่านการรวบรวมในครั้งนี้ ปริมาณกว่า 5 แสนตัน และธนาคารพร้อมสนับสนุนสินเชื่อภายใต้โครงการนี้ไม่น้อยกว่า 5 พันล้านบาท

ที่มาภาพ/ข้อมูล : https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG221110142935869