Search
Close this search box.

ทช.จับมือภาคเอกชน เก็บขยะชายหาด-ปลูกป่าชายเลน ปากน้ำประแส จ.ระยอง เนื่องในวันอนุรักษ์ชายฝั่งสากล ปี 2566

share to:

Facebook
Twitter

สำนักงานทรัพยากรทางทะเลที่ 1 ร่วมกับกลุ่มบริษัทปูนซีเมนต์นครหลวง นำโดย อินทรี อีโคไซเคิล พร้อมด้วย ‘ชุมชน-พันธมิตร’ กว่า 200 คน จัดกิจกรรม “เก็บขยะชายหาด” ระยะทาง 1.5 กม. พร้อม “ปลูกป่าชายเลน” จำนวน 400 ต้น ณ ปากน้ำประแส อ.แกลง จ.ระยอง เนื่องในวันอนุรักษ์ชายฝั่งสากล

เวลา 09.00 น.วันที่ 16 กันยายน 2566 ที่ศูนย์เรียนรู้ปากน้ำประแส ต.ปากน้ำประแส อ.แกลง จ.ระยอง นายไชยรัตน์ เอื้อตระกูล นายกเทศมนตรีตำบลปากน้ำประแส นายภุชงค์ สฤษฎีชัยกุล ผู้อำนวยการสำนักงาน ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นางสาวสุจินตนา วีระรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินทรี อีโคไซเคิล จำกัด ร่วมเปิดกิจกรรมเก็บขยะชายหาดและปลูกป่าชายเลน โดยมีทีมอินทรีอาสา พร้อมด้วยพันธมิตร ประกอบด้วย บริษัท ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด หรือ ช่อง 7HD บริษัท อินโน พรีคาสท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของพฤกษาโฮลดิ้ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตระยอง และชุมชนปากน้ำประแส รวมกว่า 200 คน ร่วมเก็บขยะชายหาดและปลูกป่าชายเลน

สำหรับขยะที่ไม่สามารถนำมารีไซเคิลและมีค่าความร้อน จะถูกคัดแยกและส่งไปที่อินทรี อีโคไซเคิล เพื่อนำมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงขยะ หรือ RDF (Refuse Derived Fuel) นำความร้อนกลับมาใช้ใหม่ (Energy Recovery) ทดแทนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตปูนซีเมนต์ นอกจากนี้ภายในงานยังมีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับขยะเชื้อเพลิง และให้ความรู้เกี่ยวกับขยะไมโครพลาสติก และอันตรายที่เกิดจากการปนเปื้อนของขยะไมโครพลาสติกในระบบนิเวศ โดยดร.อุดมศักดิ์ บุญมีรติ คณะวิทยาศาสตร์ พลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตระยอง

นางสาวสุจินตนา วีระรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินทรี อีโคไซเคิล จำกัด บริษัทในกลุ่มบริษัทปูนซีเมนต์นครหลวง เปิดเผยถึงกิจกรรมเก็บขยะชายหาดและปลูกป่าชายเลน ภายใต้โครงการ INSEE Green Heart Plus ว่า กลุ่มบริษัทปูนซีเมนต์นครหลวงให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมเสมอมา ตามกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาด้านความยั่งยืน ปี 2573 ของกลุ่มบริษัทฯ จึงได้จัดกิจกรรมเนื่องในวันอนุรักษ์ชายฝั่งสากลประจำปี 2566 ซึ่งตรงกับวันเสาร์ของสัปดาห์ที่ 3 ในเดือนกันยายนของทุกปี เพื่อช่วยลดปริมาณขยะไม่ให้หลุดรอดสู่สิ่งแวดล้อม และมุ่งสร้างจิตสำนึกการแก้ปัญหาขยะในทะเลอย่างยั่งยืน “อินทรี อีโคไซเคิล ในฐานะผู้ให้บริการจัดการของเสียและบริการภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ได้สนับสนุนและผลักดันความร่วมมือกับลูกค้าและพันธมิตรในการจัดการขยะตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง โดยมองว่า “ขยะ” คือ “ทรัพยากร” ที่ต้องบริหารจัดการให้เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุด ปัจจุบันปัญหาที่เกิดจากขยะมูลฝอยสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สิ่งมีชีวิตและสุขภาพของเราทุกคนเป็นอย่างมาก”

จากรายงานประจำปี 2565 ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พบว่าขยะตกค้างชายฝั่งที่เก็บส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติกที่ร้อยละ 81 นอกจากนี้ข้อมูลสถิติจากโครงการอนุรักษ์ชายฝั่งสากล (International Coastal Cleanup? Results) พบว่า 3 อันดับแรกของขยะที่เก็บได้ของประเทศไทยในปี 2565 คือ ถุงพลาสติก ขวดพลาสติก และหีบห่อบรรจุภัณฑ์อาหาร ตามลำดับ ซึ่งขยะเหล่านี้หากมีการคัดแยกและจัดการอย่างถูกวิธี จะช่วยลดปริมาณขยะที่ต้องส่งไปบ่อขยะ สามารถนำกลับมาใช้เป็นทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและยั่งยืนต่อไป

โดยอินทรี อีโคไซเคิล ในฐานะผู้นำด้านการให้บริการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพและการบริการภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน มีความเชี่ยวชาญในกระบวนการเผาร่วมในเตาเผาปูนซีเมนต์ (Co-processing) และการนำขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้มาใช้เป็นเชื้อเพลิงขยะ (Refuse derived fuel : RDF) ซึ่งจะทำให้ปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน และขยะตกค้างสะสมที่อาจหลุดรอดสู่ทะเลมีปริมาณที่น้อยลง

อินทรี อีโคไซเคิล ได้ริเริ่มโครงการรื้อร่อนขยะมูลฝอยจากบ่อขยะ และส่งเสริมให้มีจุดรวบรวมขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ โดยเฉพาะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ขยะที่ไม่มีการรับซื้อและมีมูลค่าต่ำไม่คุ้มในการนำมารีไซเคิล เช่น ถุงพลาสติก ภาชนะ ช้อนส้อมพลาสติก มาผ่านกระบวนการปรับปรุงคุณภาพและจัดการต่างๆ เพื่อผลิตเป็นเชื้อเพลิงขยะ ซึ่งเป็นการนำขยะมูลฝอยชุมชนมาใช้เป็นพลังงาน เป็นการสนับสนุนการปิดวงจร หรือ Close the Loop ของขยะที่หลงเหลือไม่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ ไม่ให้รั่วไหลไปสู่บ่อขยะและสิ่งแวดล้อม ตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ซึ่งเป็นโมเดลเศรษฐกิจใหม่ “BCG” หรือ Bio-Circular-Green Economy เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว ในแนวทางของการพัฒนาองค์กรที่ยั่งยืน (SDGs) รวมทั้งขยายความร่วมมือกับพันธมิตรในการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกอย่างต่อเนื่อง

 

ที่มาภาพ/ข้อมูล : https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG230916205001054