รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ลงพื้นที่ตรวจราชการในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model ด้านครั่ง จังหวัดลำปาง สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1,300 ล้านบาท
นายนวนิตย์ พลเคน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร พร้อมด้วย นางสาวภัทรมาศ พานพุ่ม ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมแมลงเศรษฐกิจ ผู้แทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่ ผู้แทนศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านแมลงเศรษฐกิจ จังหวัดเชียงใหม่ ลงพื้นที่ตรวจราชการในจังหวัดลำปาง ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานการส่งเสริมแมลงเศรษฐกิจในจังหวัดลำปาง ตามแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model ด้านครั่ง ของจังหวัดลำปาง ติดตามสถานการณ์การผลิตครั่ง สถานการณ์ผลผลิตครั่งในปี 2565 และสถานการณ์การตลาดของครั่งทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการหารือแนวทางในการส่งเสริมอุตสาหกรรมครั่งในจังหวัดลำปาง ร่วมกับกลุ่มธุรกิจครีเอเซียกรุ๊ป และบริษัท นอร์ทเทอร์น สยามซีดแลค จำกัด ในการนี้ นายธีระพงศ์ ฤทธิโชติ เกษตรจังหวัดลำปาง พร้อมด้วย หัวหน้ากลุ่ม/ฝ่าย และเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรจังหวัดลำปาง ให้การต้อนรับและร่วมติดตามการลงพื้นที่ในจังหวัดลำปาง ณ บริษัท ครีเอเซียมิลล์ จำกัด
ทั้งนี้ จังหวัดลำปางเป็นศูนย์กลางในการผลิตครั่งของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน รวมถึงเป็นแหล่งรวบรวมผลผลิตจากทั่วประเทศ ครั่งเป็นสารชนิดหนึ่งที่สร้างขึ้นมาออกจากตัวแมลงครั่ง ซึ่งจัดเป็นเพลี้ยชนิดหนึ่ง เป็นแมลงตัวเมียของต้นไม้โดยอาศัยเกาะกินน้ำเลี้ยงของต้นไม้ แมลงครั่งจะมีขนาดที่เล็กมากยากต่อการมองเห็นด้วยตาเปล่า มีการดูดกินน้ำเลี้ยงเพื่อการเจริญเติบโตจากต้นไม้โดยปากของมันจะมีลักษณะเป็นงวงในส่วนของการระบายยางครั่งจากตัวครั่งออกมานั้น จะมีลักษณะเหนียวสีออกเหลืองทองเพื่อออกมาห่อหุ้มตัวเป็นเรือนเป็นรังเพื่อป้องกันอันตรายจากศัตรูต่าง แต่ยางครั่งนั้นเมื่อถูกอากาศในระยะหนึ่งจะทำให้เกิดการแข็งตัวและสีจะเปลี่ยนมาเป็นสีออกแดงๆ ที่เรียกกันว่า “ครั่ง” เข้าใจโดยง่าย คือ เรซิ่นธรรมชาติ หรือ เลเกอร์ธรรมชาติ ยางครั่งมีลักษณะเหนียวสีเหลือง เมื่อถูกอากาศนานเข้าจะแข็งตัวเป็นสีน้ำตาลแดง ครั่งที่เก็บจะทำการกระเทาะเนื้อครั่งออกจากกิ่งไม้แล้วเรียกว่า ครั่งดิบ ซึ่งมีส่วนประกอบที่สำคัญคือ เรซิ่น ขี้ผึ้ง สี ชากตัวครั่ง และสารอื่นๆ ส่วนครั่งที่นำไปใช้ประโยชน์ทางอุตสาหกรรมคือ สีครั่งและครั่งเม็ด ซึ่งได้จากขบวนการแปรรูปผลิตเป็นครั่งเม็ดแล้ว หลังจากนั้นครั่งเม็ดจะถูกนำไปแปรรูปเป็นสารตั้งต้นสำหรับการผลิตแชลแล็ค สำหรับอุตสาหกรรมอาหารและยา อุตสาหกรรมเคลือบผลไม้อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง และอุตสาหกรรมไม้และอุตสาหกรรมอื่นๆ ต่อไป
สำหรับในปี 2565 ผลผลิตครั่งออกในปริมาณมาก ถือเป็นมูลค่ากว่า 1,300 ล้านบาท ซึ่งผลผลิตครั่งจะออกมาที่สุดในเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม โดยผลผลิตที่ออกมาและรับซื้อจากเกษตรกรแล้ว จะผ่านกระบวนการทำความสะอาด แปรรูปให้เป็นครั่งเม็ด ก่อนนำไปแปรรูปเป็นแชลแล็คต่อไป
ที่มาภาพ/ข้อมูล : https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG221223110202075