รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร นำเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่นครพนม พัฒนาความรู้ เพิ่มทักษะ สร้างประสิทธิภาพและมูลค่าในการบริหารจัดการผลไม้ไทยในพื้นที่รับผิดชอบ นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ด้านส่งเสริมการผลิต เปิดเผยว่า ที่ผ่านมากรมส่งเสริมการเกษตร ได้ดำเนินการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้มาอย่างต่อเนื่อง โดยกรมส่งเสริมการเกษตรทำหน้าที่เป็นเลขานุการของคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit board) ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ พ.ศ. 2550 ซึ่งทางกรมส่งเสริมการเกษตรได้มีการเข้าไปส่งเสริม สนับสนุน ให้เกษตรกรมีความรู้และศักยภาพในการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ ตลอดจนสามารถจัดการเกี่ยวกับตลาด เพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคด้วยหลัก ตลาดนำการผลิตภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาผลไม้ไทย ปี 2565 – 2570
ดังนั้น จึงได้นำคณะตัวแทนเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรผู้รับผิดชอบงานไม้ผลในระดับตำบล อำเภอ และจังหวัดจากทั่วประเทศ จำนวน 125 ราย ลงพื้นที่จังหวัดนครพนม เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาผลไม้ไทย ทำให้ทุกคนเกิดไอเดีย ทักษะ และเทคนิคใหม่ ๆ นำไปส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่ที่ตนเองรับผิดชอบ นำมาซึ่งการขับเคลื่อนงานที่มีการวางแผน มีประสิทธิภาพ ในการบริหารจัดการผลไม้ไทยในพื้นที่ ทันต่อฤดูของผลผลิต และการพัฒนาการเกษตร สอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0 ภายใต้กิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการผลไม้
โดยในโอกาสนี้ก็ได้ให้แง่คิด ข้อเสนอแนะ ตลอดจนวิธีการในการพัฒนาประสิทธิภาพ และเพิ่มมูลค่าผลผลิตให้กับเจ้าหน้าที่ทุกคนได้นำไปใช้เป็นหลักในการปฏิบัติ คือ การวิเคราะห์สินค้าและลูกค้าทั้งเดิมและใหม่เพื่อให้เห็นจุดเด่น จุดด้อย หาอัตลักษณ์เฉพาะมานำเสนอสู่ท้องตลาด โดยวางกลยุทธทางการตลาดที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค เน้นการเข้าถึงที่สะดวกสบาย ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ก่อให้เกิดความประทับใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างการประชาสัมพันธ์ เพราะทุกวันนี้ทุกคนสามารถสร้างช่องออนไลน์ได้เอง นั่นหมายถึงการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าตั้งแต่กระบวนการผลิตที่เป็นต้นน้ำ นำมาสู่ขั้นตอนกลางน้ำและปลายน้ำที่ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่น สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ และยิ่งมีการบูรณาการในรูปแปลงใหญ่จะยิ่งสร้างความยั่งยืนให้กับเกษตรกรได้มากยิ่งขึ้น รวมถึงอยากให้ทุกคนมองในเรื่องของราคาสินค้าที่มีความผันผวนเวลาที่มีผลผลิตเยอะ เพราะหลายคนใช้วิธี ลด แลก แจก แถม ซึ่งตนเองมองว่าเป็นการแข่งขันที่ไม่คุ้มทุน แต่ถ้าเราสามารถส่งเสริมให้เกษตรนำหลัก BCG ที่เป็นโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นเศรษฐกิจทฤษฎีใหม่ที่ผสมผสานการพัฒนา 3 ด้าน คือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวมาใช้จะตอบโจทย์ผู้บริโภคมากกว่า เพราะทุกวันนี้ทุกคนหันมาใส่ใจในสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ถ้าเกษตรกรสามารถทำตรงนี้ได้ จะทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ที่สำคัญคือได้ราคาที่สูงขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว
นอกจากนี้ ยังได้พาทุกคนได้ศึกษาแนวทางการพัฒนาและขับเคลื่อนสินค้าเกษตรในพื้นที่จังหวัดนครพนมกับกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ คือ สับปะรด GI และลิ้นจี่ พันธุ์ นพ 1 ซึ่งเป็นผลไม้ขึ้นชื่อของจังหวัดนครพนม ที่ได้รับการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา
ที่มาภาพ/ข้อมูล : https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG221214140114861