วันที่ 2 มีนาคม 2566 ที่บริเวณสำนักงานกลุ่มเกษตรกรทำไร้โป่งน้ำร้อน ตำบลโป้งน้ำร้อน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นประธานเปิดงานรณรงค์เกษตรกรร่วมใจผลิตส้มปลอดภัย “Safe Use Safe Orange” โดยกรมวิชาการเกษตร ร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ สถาบันการศึกษา และหน่วยงานภาคเอกชน ให้ความสำคัญกับการผลิตส้มปลอดภัยและมีคุณภาพ การผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลด ละเลิกการใช้สารเคมีที่เป็นอันตราย เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผลผลิตทางการเกษตรไม่มีการปนเปื้อนของสารเคมีทางการเกษตรที่เป็นอันตราย ซึ่งเป็นการดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) ในภาคการเกษตร จึงได้ดำเนินการจัดทำโครงการรณรงค์เฝ้าระวังสารเคมีตกค้างในผลผลิตส้ม เพื่อส่งเสริมการผลิตและจัดการสินค้าเกษตรด้วย BCG Model เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้เกษตรกรผลิตส้มปลอดภัย โดยให้เกษตรกรผู้ปลูกส้มดำเนินการจัดการศัตรูพืชด้วยวิธีผสมผสาน รวมถึงการใช้ชีวภัณฑ์และแมลงศัตรูธรรมชาติในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช เน้นการปฏิบัติตามหลัก การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี หรือ GAP ซึ่งมีการบูรณาการการทำงานตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ โดยใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมสร้างมูลค่าเพิ่ม(Value Creation) เน้นการอนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนา เพิ่มพูนทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ การบริหารจัดการ การใช้ประโยชน์และบริโภคอย่างยั่งยืน
ภายในงาน ประกอบด้วย การเสวนาพิเศษ “ขี้ช่องส่องตลาด…ส้มไทย จากผู้ผลิตสู่ผู้บริโภค” และการจัดฐานการเรียนรู้ ให้เกษตรกรผู้ปลูกส้ม ในพื้นที่ อำเภอฝาง แม่อาย และไชยปราการ ได้ศึกษาเรียนรู้ เช่น การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างถูกต้องและปลอดภัย ชัวร์ก่อนใช้ เช็คก่อนทิ้ง การป้องกันกำจัดศัตรูส้มโดยวิธีผสมผสาน การจัดการดินและปุ๋ยในสวนส้ม ระบบตรวจรับรองแปลงมาตรฐาน GAP แบบดิจิทัล การใช้โดรนทางการเกษตร บริการตรวจคัดกรองความเสี่ยงจากการสัมผัสสารเคมีกำจัดศัตรูพืช บริการตรวจวิเคราะห์สารเคมีตกค้างในส้มโดย GT Test Kit
สำหรับสถานการณ์การผลิตส้มสายน้ำผึ้งของอำเภอฝาง ปี 2565/66 มีพื้นที่ปลูก จำนวน 17,939 ไร่ ผลผลิตส้มมากกว่า 76,360 ตัน ส้มสายน้ำผึ้งอำเภอฝางจะมีมีผิวสีเหลืองทองอร่ามสวยเมื่อสุกได้ที่ เนื้อแน่นน้ำเยอะ มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ คือ รสจัดจ้าน กลมกล่อม หวานนำอมเปรี้ยวเล็กน้อย ไม่หวานจืด ชานนิ่ม ดินในเขตพื้นที่อำเภอฝาง ค่อนข้างจะมีแร่ธาตุที่อุดมสมบูรณ์ เป็นดินแดนสายน้ำแร่ธรรมชาติ แหล่งน้ำมาจากแหล่งน้ำแม่ใจและเป็นดินที่มีแร่ธาตุจากภูเขาไฟ มีน้ำแร่ผสมอยู่ เนื่องจากเป็นเขตภูเขาไฟเดิม อากาศร้อนสลับหนาวในช่วงปลายปีซึ่งเป็นอากาศที่ส้มค่อนข้างชอบ พื้นที่เป็นภูเขาสูง เป็นหุบเขา มีอากาศไหลผ่านหมุนเวียน และมีความชื้นจึงเป็นพื้นที่ที่เหมาะแก่การปลูกส้มสายน้ำผึ้งมากที่สุด ซึ่งขณะนี้จังหวัดเชียงใหม่ได้เตรียมเสนอส้มสายน้ำผึ้งโป่งน้ำร้อนฝาง เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์(GI ) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน กระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้เพิ่มให้ผู้ประกอบการ
ที่มาภาพ/ข้อมูล : https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG230302144130570