Search
Close this search box.

สวก. ปักหมุด “จอมบึง” สร้างแปลงต้นแบบระบบน้ำหยดและการให้ปุ๋ยในระบบน้ำสำหรับอ้อย เดินหน้าผลักดัน BCG Model นำร่องจังหวัดราชบุรี

share to:

Facebook
Twitter

สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรอำเภอจอมบึง และสำนักงานเกษตรจังหวัดราชบุรี จัดอบรมเชิงปฏิบัติการถ่ายทอดองค์ความรู้ “เทคโนโลยีการบริหารจัดการน้ำระดับแปลงเกษตรกรด้วยระบบน้ำหยดสำหรับอ้อย” ภายใต้โครงการขยายผลเทคโนโลยีการบริหารจัดการน้ำระดับแปลงเกษตรกรด้วยระบบน้ำหยดสำหรับอ้อยในจังหวัดราชบุรี ณ ตำบลเบิกไพร อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี โดยมีการให้คำแนะนำและติดตามอย่างใกล้ชิด มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของเกษตรกรควบคู่กับการพัฒนาองค์ความรู้ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการขับเคลื่อนที่กำหนดทิศทางและใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติเพื่อพัฒนาสินค้าเกษตรของจังหวัดราชบุรี ภายใต้กรอบ BCG Model ได้แก่ มะพร้าว อ้อย สุกร โคนม พืชผัก และกุ้งก้ามกราม เมื่อวันที่ 12-15 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา นายภาณุวัฒน์ ลี้เลอเกียรติ ผู้แทนจากสำนักงานเกษตรจังหวัดราชบุรี กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมอบรม นายอิทธิเดช อัตถไพศาล ที่ปรึกษา สวก. กล่าวถึงวัตถุประสงค์และเปิดการฝึกอบรม พร้อมมอบแนวทางการปฏิบัติที่เหมาะสม

ผศ.ดร.สุดชล วุ้นประเสริฐ ผศ.ดร.ฐิติพร มะชิโกวา อาจารย์ประจำสำนักวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และทีมผู้ช่วยนักวิจัย ร่วมเป็นวิทยากรถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เกษตรกรแปลงต้นแบบและเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่เข้าใจถึงระบบน้ำหยดและการให้ปุ๋ยในระบบน้ำสำหรับการผลิตอ้อย ในประเด็นความสำคัญของน้ำ ปัจจัยที่ช่วยทำให้ผลผลิตของอ้อยเพิ่มขึ้น ระบบน้ำในอ้อย ระบบน้ำหยด การติดตั้งระบบน้ำหยด ขั้นตอนการออกแบบให้น้ำหยดอ้อย การแบ่งโซน ปัจจัยที่มีผลต่อการให้น้ำของอ้อย และการให้ปุ๋ยไปกับระบบน้ำ รวมถึงสอนวิธีการใช้แอปพลิเคชันการให้น้ำและปุ๋ยแบบแม่นยำในการผลิตอ้อยผ่านโทรศัพท์มือถือสำหรับคำนวณปริมาณน้ำ เวลา และปริมาณปุ๋ยที่ควรใช้ในแต่ละครั้ง ช่วยให้เกษตรกรสามารถคำนวณปริมาณน้ำ เวลา และปุ๋ยให้เหมาะสมกับไร่อ้อยของตนเองและมีปริมาณผลผลิตสูงที่สุด นอกจากนี้ยังมีการจัดทำแปลงเรียนรู้ขยายผลเทคโนโลยีให้เกษตรกรต้นแบบในอำเภอจอมบึง พร้อมดำเนินการติดตั้งระบบน้ำและระบบปุ๋ยสำหรับแปลงอ้อยต้นแบบ จำนวน 2 แปลง ได้แก่ แปลงอ้อยต้นแบบของนายชูชาติ อินทร์คง จำนวน 8 ไร่ และแปลงอ้อยต้นแบบของนางระพี แหวนเพชร จำนวน 7 ไร่ ซึ่งจะมีการติดตามและให้คำแนะนำเกษตรกรในการบริหารจัดการน้ำและแปลงอ้อยเป็นระยะด้วย โดย สวก. และทีมนักวิจัยจะมีการลงพื้นที่เพื่อติดตามและให้คำปรึกษาพร้อมวิธีการให้ปุ๋ยในระบบน้ำสำหรับการผลิตอ้อย ในระหว่างวันที่ 3 – 4 มีนาคม 2565

ที่มาข้อมูล / อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.arda.or.th/newlist-detail.php?id=948