Search
Close this search box.

นาโนเทค สวทช. ส่งนวัตกรรม ชุดตรวจคัดกรองโรคไต นำร่องใช้จริงในอีสาน ตัดวงจรผู้ป่วยจากโรคไตวาย ตอบโจทย์แนวคิด BCG Implementation

share to:

Facebook
Twitter

“ปัญหาทางสาธารณสุข 5 อันดับแรกของจังหวัดขอนแก่น ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาวะของประชาชนมากที่สุด หนึ่งในนั้นคือ โรคไตเรื้อรัง ที่อยู่ในอันดับที่ 4 รองจากโรคปอดอักเสบ หลอดเลือดสมอง และภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด โดยพบว่าผู้ป่วยโรคไตที่สะสมในช่วง 5 ปีย้อนหลังได้เพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉลี่ย 28,000 ราย ถึง 31,000 ราย ต่อปี และยังพบว่าในปีงบประมาณ 2567 ในไตรมาศที่ 2 พบผู้ป่วยสะสมจำนวน 25,237 ราย และพบผู้ป่วยรายใหม่ จำนวนประมาณ 3,500-4,000 รายต่อปี”
จากข้อมูลที่ ดร.นพ.ธนชัย พนาพุฒิ ตัวแทนนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น ประธาน Service Plan สาขาไต จ.ขอนแก่น ได้รายงานสถานการณ์โรคไตเรื้อรังจังหวัดขอนแก่น ทำให้เราทราบว่าปัญหา โรคไต นับเป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญของประเทศไทยที่มีอัตราผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะในภาคอีสาน ที่มีปัจจัยทำให้เกิดโรคนี้ชัดเจนว่ามาจากพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ที่มีรสชาติเค็มจัด หรือการกินอาหารแปรรูป อย่างปลาร้าและของหมักดอง เป็นต้น รวมถึงพฤติกรรมการกินยาที่ผิด กินยาโดยไม่จำเป็น และการกินยาสมุนไพรที่ไม่ได้มาตรฐานอีกด้วย

ดร.นพ.ธนชัย พนาพุฒิ ตัวแทนนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น ประธาน Service Plan สาขาไต จ.ขอนแก่น
นอกจากนั้น ดร.นพ.ธนชัย ยังเน้นย้ำว่าส่วนใหญ่ผู้ป่วย โรคไต จะมาจากผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง รวมถึงโรคนิ่ว ที่เกิดจากการดื่มน้ำที่ไม่สะอาด มีตะกอน และเป็นผู้สูงอายุมากถึงร้อยละ 60 และถ้าวิเคราะห์กลุ่มเสี่ยงโรคไตเรื้อรัง พบว่าชาวอีสานจะป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังสูงขึ้นเรื่อยๆ และยังพบผู้ป่วยเรื้อรัง 3 ใน 4 ที่มีภาวะไม่สามารถชะลอไตเสื่อมได้ และมีโอกาสที่จะต้องเข้าสู่กระบวนการบำบัดทดแทนไตต่อ ภายในระยะ 5-7 ปี ทั้งหมดนี้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในการรักษาที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตทั้งของผู้ป่วยและครอบครัวที่เป็นผู้ดูแลด้วย
ทั้งนี้ ยังมีข้อมูลยืนยันว่า โรคไต เป็นภัยเงียบ ที่ผู้ป่วยเพียง 1.9% ที่รู้ตัวว่า ตนเองป่วยเป็นโรคไตแล้ว (ข้อมูลจาก กรมการแพทย์ 2566) ด้วยระยะต้นมักไม่แสดงอาการ แต่การทำงานของไตจะเสื่อมลง จนเข้าสู่ระยะสุดท้าย ซึ่งผู้ป่วยต้องได้รับการฟอกเลือด ล้างไต
โดยข้อมูลจาก สปสช. ปีงบประมาณ 2564 ชี้ว่า งบประมาณค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย 9,720.28 ล้านบาทต่อปี ในขณะที่ข้อมูลจาก สปสช. 2563 ชี้ว่า ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคไต 200,000 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งการจะรับมือได้ นอกเหนือจากการป้องกันไม่ให้เกิดโรค เพื่อลดจำนวนผู้ป่วย จำเป็นต้องรู้ให้เร็ว ชะลอความรุนแรงของโรค และลดค่าใช้จ่าย ที่ยิ่งระยะท้ายๆ จะมีค่ารักษาพยาบาลที่มากขึ้น

 

ด้วยความจำเป็นเร่งด่วนในการต้องร่วมมือแก้ปัญหาสาธารณสุข เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนชาวอีสานบ้านเราและวางมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายในด้านสาธารณสุขของชาติ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงร่วมกับโครงการป้องกันและชะลอโรคไตเรื้อรังในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (CKDNET) มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 7 ขอนแก่น จัดงานมหกรรมป้องกันและชะลอโรคไตเรื้อรัง เนื่องใน “วันไตโลก” ประจำปี 2567 พร้อมส่งมอบ ชุดตรวจคัดกรองโรคไต นวัตกรรมภายใต้ BCG Implementation จำนวน 3,500 ชุด พร้อมด้วยชุดตรวจคัดกรองโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ จำนวน 10,000 ชุด ขยายผลการใช้ประโยชน์นวัตกรรมให้กลุ่มผู้ใช้จริง นำร่องขอนแก่น ก่อนขยายครอบคลุมพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
จากปัญหาสาธารณสุข สู่การปรับใช้นวัตกรรม ชุดตรวจคัดกรองโรคไต รู้ผลไว ลดจำนวนผู้ป่วยไตวายในภาคอีสานได้จริง
จากปัญหาข้างต้น ได้กลายเป็นโจทย์สำคัญให้ ทีมวิจัย นาโนเทค สวทช. พัฒนา ชุดตรวจคัดกรอง ติดตามโรคไตเรื้อรัง และภาวะแทรกซ้อนโรคเบาหวาน เป็นตัวช่วยลด “ช่องโหว่” ให้ประชาชนที่เดิมไม่สามารถเข้าถึงการตรวจคัดกรองโรคไตได้ตั้งแต่ระยะต้น จากค่าใช้จ่ายในการตรวจที่ค่อนข้างสูง รวมถึงหน่วยงานด้านสาธารณสุขที่ให้บริการตรวจยังมีไม่เพียงพอ เพราะต้องเป็นสถานพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์ และด้านเทคนิคการแพทย์ดำเนินการตรวจในห้องปฏิบัติการ

ดร.เดือนเพ็ญ จาปรุง ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยวัสดุตอบสนองและเซ็นเซอร์ระดับนาโน นาโนเทค สวทช.
โดย ดร.เดือนเพ็ญ จาปรุง ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยวัสดุตอบสนองและเซ็นเซอร์ระดับนาโน นาโนเทค สวทช. ได้กล่าวว่า
“ชุดตรวจคัดกรอง ติดตามโรคไตเรื้อรัง และภาวะแทรกซ้อนโรคเบาหวาน เป็นนวัตกรรมที่ช่วยลด “ช่องโหว่” ให้ประชาชนที่เดิมไม่สามารถเข้าถึงการตรวจคัดกรองโรคไตได้ตั้งแต่ระยะต้น จากค่าใช้จ่ายในการตรวจที่ค่อนข้างสูง รวมถึงหน่วยงานด้านสาธารณสุขที่ให้บริการตรวจยังมีไม่เพียงพอ เพราะต้องเป็นสถานพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์ และด้านเทคนิคการแพทย์ดำเนินการตรวจในห้องปฏิบัติการ”
“ทั้งนี้ ทีมวิจัย นาโนเทค สวทช. พัฒนา 2 เทคโนโลยีที่ตอบความต้องการใช้งานที่แตกต่างกัน เทคโนโลยีแรกคือ ‘AL-Strip’ เป็นชุดตรวจโรคไตเชิงคุณภาพที่ประชาชนทั่วไปใช้ตรวจคัดกรองโรคได้ด้วยตัวเอง ทราบผลการตรวจได้ภายใน 5 นาที เพียงหยดปัสสาวะที่เก็บใหม่ลงบนแถบตรวจ แล้วอ่านผลจากแถบสีที่ปรากฏ (คล้ายกับการใช้ชุดตรวจคัดกรองโรคโควิด-19) ก็จะทราบผลการคัดกรองได้ทันที”
“โดยถ้ามีปริมาณอัลบูมินซึ่งเป็นโปรตีนที่เป็นสารประกอบหลักของเลือดเจือปนอยู่ในปัสสาวะเกิน 20 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร ชุดตรวจจะขึ้นแถบสี 1 ขีด หมายถึง ‘มีความเสี่ยงเป็นโรคไตสูง’ ผู้ตรวจควรเข้ารับการตรวจโดยละเอียดที่สถานพยาบาลเพื่อให้แพทย์วินิจฉัยความผิดปกติของร่างกาย และเข้ารับการรักษาตามระยะของความผิดปกติ หากผู้ป่วยตรวจพบความผิดปกติตั้งแต่อยู่ในระยะเริ่มต้น ก็จะมีโอกาสหันกลับมาดูแลตัวเองด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคเพื่อชะลอความเสื่อมของไต ซึ่งอาจทำให้ไตกลับมาทำงานเป็นปกติได้”

“ส่วนเทคโนโลยีที่สอง คือ GO-Sensor Albumin Test ชุดตรวจโรคไตเชิงปริมาณ เพื่อการวิเคราะห์ผลทางการแพทย์ ที่ทีมวิจัยได้พัฒนาใน 2 ส่วนหลัก คือ เครื่องตรวจปริมาณอัลบูมินที่เจือปนอยู่ในปัสสาวะ ที่ใช้เวลาในการประมวลผลเพียง 10-30 นาที ขึ้นอยู่กับความละเอียดของข้อมูลที่ต้องการ”
“และหลังประมวลผลจะสามารถดูข้อมูลได้ผ่านทั้งคอมพิวเตอร์และสมาร์ตโฟน เพื่อให้แพทย์นำผลการตรวจไปใช้งานต่อได้สะดวก ส่วนที่สองคือน้ำยาตรวจที่มีความจำเพาะกับอัลบูมินของมนุษย์ มีความไวในการตรวจมากกว่าชุดตรวจทั่วไปประมาณ 100 เท่า ช่วยลดปริมาณน้ำยาที่ใช้ในการตรวจได้เป็นอย่างดี”
“นอกเหนือจากความท้าทายเรื่องเทคโนโลยี เรายังให้ความสำคัญกับเรื่องราคาที่ต้องจับต้องได้ เพื่อให้ชุดตรวจ AL-Strip นี้เข้าถึงได้ง่าย เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญด้านการคัดกรองโรคไตแบบเชิงรุกเพื่อลดจำนวนผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังในประเทศไทย ในขณะที่ GO-Sensor Albumin Test จะเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีสำคัญที่ช่วยเพิ่มโอกาสให้ทุกสถานพยาบาลเข้าถึงอุปกรณ์การตรวจเชิงปริมาณเพื่อการดูแลรักษาคนไข้ในพื้นที่ โดยไม่ต้องส่งตัวคนไข้หรือส่งปัสสาวะ (ภายใต้การควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสมและนำเข้ากระบวนการตรวจภายใน 24 ชั่วโมง) ไปตรวจยังสถานพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมสูง”
ดร.เดือนเพ็ญ ยังเปิดเผยด้วยว่าปัจจุบัน นวัตกรรมนี้ มีเอกชนรับถ่ายทอดเทคโนโลยี พร้อมขยายสู่เชิงพาณิชย์ให้ผู้ที่สนใจใช้งานได้ในอนาคตอันใกล้

 

ที่มาข้อมูล/อ่านทั้งหมดได้ที่ : https://www.salika.co/2024/03/20/innovation-kidney-check-up-nectec-0/