เมื่อวันที่ 10 พ.ย.66 เวลา 09.30 น. นางสาวสุพัตรา คล้ายทิม รองผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร เป็นประธานเปิดงานวันรณรงค์การผลิตและใช้แหนแดงโครงการขยายผลการผลิตและใช้แหนแดงเพื่อลดต้นทุนการผลิตสู่เกษตรกร ณ โรงเรียนอนุบาลบึงสามัคคี ตำบลระหาน อำเภอบึงสามัคคี จังหวัดกำแพงเพชร
นายศักดิเดชน์ แก้ววิเศษ เกษตรจังหวัดกำแพงเพชร กล่าวว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันการผลิตภาคการเกษตรมีต้นทุนที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ต้นทุนที่สำคัญ คือ ปัจจัยการผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะปุ๋ยเคมี ซึ่งประเทศไทย ได้นำเข้าปุ๋ยเคมี จากต่างประเทศปีละประมาณ 5.5 ล้านตัน คิดเป็นเงิน 70,103 ล้านบาท และปุ๋ยเคมีมีแนวโน้มราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ จากเหตุผลดังกล่าว ทำให้ภาครัฐได้รณรงค์ให้เกษตรกร ลดการใช้ปัจจัยการผลิตเกินความจำเป็น
จังหวัดกำแพงเพชร ได้ดำเนินโครงการขยายผลการผลิตและใช้แหนแดง เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ ให้เกษตรกรมีความเข้าใจ สามารถผลิตและใช้แหนแดงเพื่อลดต้นทุนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
1) เพื่อลดการใช้ปุ๋ยเคมีไนโตรเจนโดยใช้แหนแดงทดแทน
2) เพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุและปรับปรุงโครงสร้างดินให้ดีขึ้น
3) เพื่อใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์สำหรับข้าว/พืชไร่/พืชผัก/และไม้ผล
4) เพื่อใช้เป็นแหล่งโปรตีน/ลดต้นทุนการเลี้ยงสัตว์/และประมง
นอกจากนี้ การใช้แหนแดงในกระบวนการผลิต ยังเป็นการช่วยดูแลฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรดิน ตามนโยบาย BCG อีกด้วย
ในการจัดงานครั้งนี้ ประกอบด้วยสถานีเรียนรู้ 3 สถานี ได้แก่
สถานีที่ 1 เรื่อง การผลิตและใช้แหนแดงเพื่อลดต้นทุนการเกษตร โดยศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดพิษณุโลก
สถานีที่ 2 เรื่อง การใช้แหนแดงเพื่อลดต้นทุนการผลิตข้าว โดยสำนักงานเกษตรอำเภอบึงสามัคคี
สถานีที่ 3 เรื่อง การทำปุ๋ยหมักคุณภาพสูงจากแหนแดงแห้ง โดยศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร
รองผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร กล่าวว่า นับว่าเป็นโอกาสดีที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความสำคัญ ในการลดต้นทุนการเพาะปลูกพืชเพราะเกษตรกรทำการเกษตร ต้องหวังผลกำไร เมื่อต้นทุนการผลิตสูง ก็มีความเสี่ยงต่อการขาดทุน โดยเฉพาะปีใดที่ราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ เกษตรกรจะประสบภาวะขาดทุน และมีหนี้สินเพิ่มขึ้น ซึ่งการจัดงานวันรณรงค์การผลิตและใช้แหนแดงในวันนี้ขอให้เจ้าหน้าที่ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเกษตรกร เข้าใจอย่างลึกซึ้ง เพื่อนำความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่การเกษตรของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดต้นทุนการผลิต และช่วยดูแลฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรดินอย่างยั่งยืนต่อไป
ที่มาภาพ/ข้อมูล : https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG231110120549632