Search
Close this search box.

กสิกรไทยเสวนาความยั่งยืนแห่งปี “Rethink Sustainability” หนุนการเปลี่ยนผ่านและลงมือทำเพื่อความยั่งยืน

share to:

Facebook
Twitter

สถาบันการเงิน โดยเฉพาะ ‘ธนาคาร’ นับว่ามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างและขับเคลื่อน ‘ความยั่งยืน’ หรือ ‘Sustainability’ รวมถึงเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)
สถาบันการเงินชั้นนำของประเทศไทยอย่าง ‘ธนาคารกสิกรไทย’ อาสาเป็นตัวกลางขับเคลื่อนและสร้างการเปลี่ยนผ่านให้ประเทศมุ่งไปสู่ความยั่งยืน โดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ตั้งแต่ลูกค้าของธนาคาร พันธมิตรทางธุรกิจ ภาคเอกชน ภาครัฐ รวมไปถึงประชาชนคนไทยทุกคน

จากความสำเร็จของงานสัมมนา “EARTH JUMP 2023 : New Frontier of Growth” ในปี 2566 ที่ได้รวมสุดยอดผู้บริหารชั้นนำระดับโลกกว่า 30 รายมาร่วมแสดงวิสัยทัศน์และแบ่งปันประสบการณ์ ซึ่งได้รับความสนใจจากนักธุรกิจเข้าร่วมงานอย่างล้นหลามกว่า 2,000 คน มาสู่งานเสวนาด้านความยั่งยืนภายใต้หัวข้อ “Rethink Sustainability : A Call to Action for Thailand” ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 ที่จัดโดยธนาคารกสิกรไทย เคแบงก์ ไพรเวทแบงก์กิ้ง (KBANK Private Banking) และลอมบาร์ด โอเดียร์ (Lombard Odier)

เป้าหมายของงานเสวนาด้านความยั่งยืนในครั้งนี้คือ การผลักดันและเร่งให้เกิดการลงมือทำ ตามแนวคิด ‘Rethink Sustainability’ โดยมีองค์ชั้นนำในประเทศรวมถึงระดับโลก มาแชร์ความรู้เพื่อผลักดันให้เกิดเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่ความยั่งยืน ครอบคลุม 4 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อาหารและการเกษตร ปิโตรเคมี และพลังงานหมุนเวียน ซึ่งงานเสวนานี้ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานสำคัญทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อร่วมกันสร้างแรงขับเคลื่อนให้ความยั่งยืนเกิดขึ้นได้จริง ไม่ว่าจะเป็น กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) รวมถึงหน่วยงานระดับโลกอย่าง Systemiq และ The Alliance to End Plastic Waste

สำนักข่าวออนไลน์ ThaiPublica รวบรวมประเด็นสำคัญในงาน “Rethink Sustainability : A Call to Action for Thailand” เพื่อตอกย้ำบทบาทสำคัญของธนาคารและนักลงทุนในการสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจไทยให้ก้าวไปสู่ความยั่งยืน และเป้าหมาย Net Zero

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย
กุญแจสู่ความยั่งยืน และมุมมองนักลงทุนต่อ Net Zero
ปฏิเสธไม่ได้ว่าความท้าทายของเศรษฐกิจโลกหนีไม่พ้นเรื่อง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะความพยายามลดอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส รวมถึงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปีพ.ศ. 2593 ดังนั้นทุกภาคส่วนทั้งภาคธุรกิจและประชาชนจะต้องปรับตัวเพื่อมุ่งไปสู่ความยั่งยืนร่วมกัน

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวเปิดงานว่า ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความยั่งยืน ประกอบด้วย 4 แรงขับเคลื่อนสำคัญ คือ

1.การกำหนดนโยบายและกฎเกณฑ์จากภาครัฐ
2.การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค
3.ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรม
4.การเลือกลงทุนของนักลงทุน
“แต่ละภาคส่วนล้วนมีบทบาทที่แตกต่างกันในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และต้องอาศัยความร่วมมือจึงจะบรรลุเป้าหมายในการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อก้าวไปสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืนได้อย่างแท้จริง” นางสาวขัตติยากล่าว

นางสาวขัตติยา ย้ำว่าธนาคารกสิกรไทยมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศไทยเพื่อก้าวสู่ Net Zero อย่างจริงจัง ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการจัดงานเสวนาในครั้งนี้ ที่เชื่อมโยงทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน เพื่อร่วมกันผลักดันการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริง

นางสาวขัตติยา กล่าวต่อว่า นักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจเรื่องความยั่งยืนอย่างมาก มีนักลงทุนต่างชาติที่ตั้งคำถามกับธนาคารกสิกรไทยเรื่องความเสี่ยงของผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมต่อธุรกิจ และคำถามสำคัญคือ “คุณได้สแกนพอร์ตโฟลิโอของคุณหรือยัง” ซึ่งประเด็นเหล่านี้ตอกย้ำให้เห็นว่า ถ้าไม่ปรับตัว จะเกิดความสูญเสียอย่างแน่นอน หมดโอกาสในการหาตลาดใหม่ๆ รวมถึงโอกาสที่เคยมีอยู่อาจจะหายไป

 

 

ที่มาข้อมูล/อ่านทั้งหมดได้ที่ : https://thaipublica.org/2024/03/kbank-rethink-thailand/