นางเพ็ญประภา จันทร์คง หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ สำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า ในปี 2566 สำนักงานเกษตรจังหวัดจังหวัดกระบี่มีการขับเคลื่อนแนวทางการส่งเสริมการเกษตรในประเด็นท้าทาย “สินค้าเกษตรมูลค่าสูงภายใต้การส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่” คือ การขับเคลื่อนการส่งเสริมการเกษตร ด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) โดยมุ่งเน้นผ่านการบูรณาการของคน พื้นที่ และสินค้า จัดทำแผนการขับเคลื่อนงานฯ กำกับ ดูแล สนับสนุน ส่งเสริม และจัดการผลิตทุเรียนให้มีคุณภาพ “การผลิตทุเรียนทะเลหอย จังหวัดกระบี่ ด้วย BCG Model” ด้วยการห่อผลด้วยถึงห่อทุเรียน Magik Growth ซึ่งเป็นกระบวนการหนึ่งใน BCG Model เป้าหมายเพื่อลดการใช้สารเคมีในสวนทุเรียนโดยใช้ถุงห่อผล รวมถึงส่งต่อความรู้ให้แก่เครือข่ายกลุ่มเกษตรกร แกนนำ และผู้สนใจ เกิดความร่วมมือระหว่างเครือข่ายเกษตรกร หน่วยงาน ภาครัฐ และภาคเอกชน ในการขยายผลองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน จากผลงานวิจัย ถุงห่อทุเรียนนอนวูฟเวนจะมีความคงทนต่อสภาวะการใช้งาน สามารถใช้ได้ 3 รอบการเก็บเกี่ยว ช่วยให้เปลือกทุเรียนบางลง 20-30% น้ำหนักผลสูงขึ้น 10-15% ป้องกันหนอน กระรอกกระแตเจาะผล และลดเพลี้ยแป้ง ราดำได้ ทำให้ลดการใช้สารเคมีตั้งแต่เริ่มห่อ ถึงเก็บเกี่ยว นอกจากนั้น เกษตรกรยังสามารถขายผลผลิตทุเรียนที่ห่อถุงได้ในราคาสูงกว่าราคาตลาด 10-30%
ลักษณะเด่นของทุเรียน “ทะเลหอย” คือ ผลใหญ่ เมล็ดใหญ่เต็มทุกพู เปลือกบาง เนื้อเยอะ เม็ดเล็ก สีเนื้อเหลืองสวย รสชาติหอมหวาน ที่พิเศษสุดๆ คือเนื้อเหนียว นุ่ม ไม่เละติดมือ แม้เป็นผลที่หล่นจากต้นมา 3-4 วัน เนื้อยังคงสภาพได้เหมือนทุเรียนตัด สมกับที่คว้ารางวัลชนะเลิศ และเป็นสินค้า GI หรือ Geographical Indication ที่หมายถึง “สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์”
ที่มาข้อมูล/ภาพ : https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG230419121223351