ศึกษาเผย ‘คลื่นความร้อนทางทะเลรุนแรง’ เพิ่มขึ้น 3 เท่าใน 80 ปี

share to:

Facebook
Twitter

ลอนดอน, 18 เม.ย. (ซินหัว) — การศึกษาใหม่ที่เผยแพร่ในวารสารโพรซีดดิงส์ ออฟ เดอะ เนชันนัล อคาเดมี ออฟ ไซเอนส์ (Proceedings of the National Academy of Sciences) เปิดเผยว่าจำนวนวันที่มหาสมุทรทั่วโลกเผชิญกับคลื่นความร้อนผิวน้ำทะเลระดับรุนแรง เพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าในช่วง 80 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน

(แฟ้มภาพซินหัว : ธารน้ำแข็งฟอกซ์บนชายฝั่งตะวันตกของเกาะใต้ในนิวซีแลนด์ วันที่ 24 มี.ค. 2024)

นักวิจัยพบว่าในช่วงทศวรรษ 1940 ผิวน้ำทะเลทั่วโลกมีคลื่นความร้อนรุนแรงเฉลี่ยปีละราว 15 วัน แต่ในปัจจุบันตัวเลขดังกล่าวพุ่งขึ้นเกือบ 50 วันต่อปี โดยภาวะโลกร้อนเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเกิดคลื่นความร้อนทางทะเลเกือบครึ่งหนึ่ง
อนึ่ง คลื่นความร้อนทางทะเล หมายถึงช่วงเวลาที่อุณหภูมิผิวน้ำทะเลสูงกว่าค่าปกติอย่างมากและกินเวลาต่อเนื่องระยะหนึ่ง

การศึกษาชิ้นนี้จัดทำโดยนักวิทยาศาสตร์จากหลายสถาบัน ได้แก่ สถาบันเมดิเตอร์เรเนียนเพื่อการศึกษาขั้นสูง มหาวิทยาลัยเรดดิง สถาบันวิทยาศาสตร์อวกาศนานาชาติ และมหาวิทยาลัยหมู่เกาะบาเลอาริก ซึ่งผลการศึกษายังพบว่าอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้เหตุการณ์คลื่นความร้อนทางทะเลมีแนวโน้มที่จะยาวนานขึ้นและรุนแรงมากยิ่งขึ้น

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าคลื่นความร้อนทางทะเลสามารถทำลายระบบนิเวศใต้น้ำได้ อาทิ ทำให้แนวปะการังตาย ทำลายป่าสาหร่าย และเป็นอันตรายต่อทุ่งหญ้าทะเล

ทั้งนี้ ผลกระทบจากคลื่นความร้อนทางทะเลยังลุกลามขยายออกไปไกลเกินกว่ามหาสมุทร โดยนักวิจัยเตือนว่าความถี่ที่เพิ่มขึ้นนี้อาจทำให้ชั้นบรรยากาศของโลกมีเสถียรภาพน้อยลง และนำไปสู่พายุหมุนเขตร้อนที่รุนแรงและเกิดบ่อยมากขึ้นในบางภูมิภาค

 

ที่มาภาพ/ข้อมูล อ่านบทความทั้งหมดได้ที่ : https://www.xinhuathai.com/inter/509813_20250418