Search
Close this search box.

กระทรวงการต่างประเทศ สรุปผลประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ 3 ที่ จ.เชียงใหม่

share to:

Facebook
Twitter

นายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ปี 2565 พร้อมด้วย นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ และ Dr. Rebecca Fatima Sta Maria เลขาธิการเอเปค ร่วมกันแถลงผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ 3 ที่โรงแรมแชงกรี-ลา เชียงใหม่ ว่า ตลอดระยะเวลาการประชุมในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 16-31 สิงหาคม 2565 ได้มีการประชุมทั้งในระดับผู้เชี่ยวชาญ และระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส เพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมการเปิดเสรีการค้า การลงทุน ที่ให้โอกาสคนทุกกลุ่ม การฟื้นฟู และส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาค โดยเฉพาะการเดินทางข้ามพรมแดนอย่างสะดวกและปลอดภัย และการส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับหัวข้อหลักการประชุมเอเปค คือ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” โดยการประชุมทั้งหมดได้ขับเคลื่อนให้งานของเอเปค 2565 คืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม 3 ประการ คือ

1. ส่งเสริมการเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจให้คนทุกกลุ่ม โดยได้สานต่อผลลัพธ์การประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปคเมื่อเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา เรื่องการนำความตกลงเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) มาหารือใหม่ในบริบทยุคหลังโควิด-19 โดยได้เริ่มจัดทำแผนงานขับเคลื่อนการหารือเรื่อง FTAAP ในระยะยาวภายใต้ 3 เสาหลัก คือ การค้าการลงทุน นวัตกรรมและดิจิทัล และการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายจะเสนอแผนงานนี้ให้ที่ประชุมรัฐมนตรีเอเปคเห็นชอบในเดือนพฤศจิกายนต่อไป

2. การส่งเสริมความเชื่อมโยงการเดินทางข้ามพรมแดนที่สะดวกและปลอดภัย เอเปคได้เดินหน้าสานต่อการส่งเสริมการเดินทางข้ามพรมแดนในภูมิภาคอย่างสะดวกและปลอดภัย ด้วยการจัดประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจ APEC Safe Passage Taskforce (SPTF) ครั้งที่ 3 เพื่อขับเคลื่อนประเด็นนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายก่อนที่วาระของคณะทำงานฯ จะสิ้นสุดในเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งประเด็นหารือสำคัญ คือ การแปรผลข้อเสนอต่างๆ ไปเป็นผลงานที่เป็นรูปธรรม รวมถึงการจัดทำฐานข้อมูลเอเปค เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการเดินทางอย่างปลอดภัยที่จะเปิดให้เริ่มใช้ภายในเดือนกันยายนนี้ และการหารือถึงกิจกรรมที่ยังต้องเจรจาต่อไป อาทิ การขยายกลุ่มผู้ใช้บัตรเดินทางนักธุรกิจเอเปค (ABTC) ให้ครอบคลุมกลุ่มคนที่หลากหลายยิ่งขึ้น เพื่อให้เอเปคพร้อมรับมือวิกฤตใหม่โดยยังสามารถรักษาการเดินทางข้ามพรมแดนไว้ได้

3. การส่งเสริมการเจริญเติบโตอย่างครอบคลุม สมดุล และยั่งยืน ที่ประชุมได้เน้นย้ำความสำคัญของกระบวนการส่งเสริมความยั่งยืนไปพร้อมกันทั้งสังคม โดยจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนมุมมองระหว่างผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการเงิน และผู้แทนเยาวชนจากเขตเศรษฐกิจสมาชิก เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังได้สานต่อการจัดทำเป้าหมายกรุงเทพฯ เรื่องเศรษฐกิจ BCG ด้วยการจัดประชุมวาระพิเศษ เพื่อรับฟังความเห็นของทุกเขตเศรษฐกิจฯ ให้พร้อมเสนอต่อที่ประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคให้ความเห็นชอบในเดือนพฤศจิกายนนี้

ด้านการหารือเรื่องความยั่งยืน ที่ประชุมได้เห็นพ้องถึงความสำคัญของการส่งเสริมการฟื้นฟูการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเติบโตไปพร้อมกับการรักษาสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมท้องถิ่น การจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ เพื่อการดำเนินธุรกิจด้านป่าไม้และส่งเสริมชุมชนท้องถิ่น รวมถึงการพัฒนาระบบอาหารและการเกษตรให้ยั่งยืนยิ่งขึ้น เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อย

ทั้งนี้ การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ 3 ที่ จังหวัดเชียงใหม่ ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย ให้พร้อมเดินหน้าเข้าสู่การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคครั้งใหญ่ ระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565 ณ กรุงเทพมหานคร

ที่มาข้อมูล : https://www.facebook.com/Sumnakkaow.PRD/posts/pfbid02XxRU6XkTmEiUHBsb34HYVgUbejj63EiiJojVZzEcKYSdJZuVVbRSrg36A7KFiq8ol