Search
Close this search box.

สวทช. – MQDC จับมือพัฒนานวัตกรรม ส่งเสริมสิ่งแวดล้อมที่ดี เพื่อความยั่งยืน ตามแนวทาง BCG และ SDGs

share to:

Facebook
Twitter

เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 ที่ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน ณ Willow Atrium, ชั้น 3, DTGO CampUS จำกัด: รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษา ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด พร้อมด้วย ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมลงนามความร่วมมือ โดยมี ดร.จิตพัต ฉอเรืองวิวัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) และ ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. ร่วมเป็นสักขีพยาน

เพื่อร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถและความพร้อมขององค์กร ในการแข่งขันระดับสากล สร้างความร่วมมือเพื่อพัฒนางานวิชาการอย่างต่อเนื่อง ผ่านงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมในรูปแบบต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย

ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. ตระหนักถึงความสัมพันธ์และความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของทั้ง 2 หน่วยงาน โดยสนับสนุนให้มีการสร้างทรัพย์สินทางปัญญาและใช้ภูมิปัญญาในการสร้างสรรค์สินค้าและบริการ เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ ปกป้องรักษาสภาพแวดล้อม ภูมิอากาศ และทรัพยากร พร้อมไปกับการดูแลสังคม และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ลดการเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็น 3 เสาหลักของมิติความยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals ตามหลักการขององค์การสหประชาชาติ

ทั้งนี้ในมิติของ สวทช. นั้น ถือเป็น “ขุมพลังของประเทศ” ในการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ให้ตอบโจทย์สำคัญ และนำไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ผ่านยุทธศาสตร์ BCG Economy Model ได้แก่ การสร้างความยั่งยืนของฐานทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพ การสร้างความสามารถในการตอบสนองต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง และการยกระดับอุตสาหกรรม BCG ให้แข่งขันได้อย่างยั่งยืน โดยความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นส่วนสำคัญในการเสริมสร้างนวัตกรรมทางด้านที่อยู่อาศัย การพัฒนาวัสดุหรือสร้างคุณสมบัติพิเศษของวัสดุที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความแข็งแกร่งทั้งเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศในที่สุด

รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษา ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า MQDC มีแนวทางอย่างชัดเจนในการส่งเสริมให้นำผลงานวิจัยมาปฏิบัติเพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง รวมถึงเพื่อให้สอดคล้องกับหลาย ๆ หน่วยงานจากภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมที่ให้ความสำคัญกับงานวิจัยและงานพัฒนาเป็นอย่างมากในปัจจุบัน โดยแนวทางของศูนย์ RISC เน้นการผลักดันให้เกิดงานวิจัยเชิงลึกและสร้างนวัตกรรม เพื่อความยั่งยืนที่เป็นประโยชน์ และนับว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่เราได้ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ด้วยเจตนารมณ์ที่มีร่วมกันในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิชาการ งานวิจัย การพัฒนานวัตกรรม เพื่อสร้างประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ที่สอดคล้องกับแนวคิด “For All Well-Being” ผ่านการทำงานวิจัยภายใต้ RISC 5 Research Hubs ที่มุ่งเน้นการสร้างความอยู่ดีมีสุขตลอดการอยู่อาศัย และส่งเสริมสิ่งแวดล้อมที่ดี

รศ.ดร.สิงห์ กล่าวต่อว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ นับเป็นบันทึกความร่วมมือฉบับที่สอง นับแต่ปี 2561 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อร่วมกันสนับสนุนให้มีการสร้างทรัพย์สินทางปัญญาด้านการวิจัยและเทคโนโลยี เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและที่อยู่อาศัย ผ่านการพัฒนา “Sustainnovation” หรือ “นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน” ระหว่างนักวิจัยและผู้บริหารของทั้ง 2 หน่วยงาน โดยความร่วมมือครั้งนี้จะนำไปสู่ความอยู่ดีมีสุขในทุกมิติ ทั้งมิติด้านกายภาพ (Physical Well-Being) และมิติด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Well-Being) และส่งเสริมการต่อยอดและวางรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ชุมชน สังคม และประเทศ

“MQDC มีความตั้งใจที่จะทำให้ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน หรือ ศูนย์ RISC เป็นศูนย์กลางการวิจัยและคิดค้นนวัตกรรมเพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับทุกชีวิต ซึ่งผลงานวิจัยที่ออกมาไม่ใช่เพื่อนำมาใช้เฉพาะกับโครงการของ MQDC เท่านั้น แต่เราเปิดกว้างให้บุคคลภายนอกนำงานวิจัยของ RISC ไปต่อยอดเพื่อสร้างประโยชน์ต่อสังคมอีกด้วย”

ทั้งนี้ภายหลังการลงนามความร่วมมือได้มีการนำชมอาคาร DTGO CampUs ซึ่งออกแบบอาคารให้มีประสิทธิภาพด้านการอนุรักษ์พลังงานตามเกณฑ์ “TREES-NC” สถาบันอาคารเขียวไทย และตามเกณฑ์ “WELL building standard” ระดับ Platinum ของ International WELL Building Institute (IWBI) สถาบันที่กำหนดมาตรฐานอาคารที่มุ่งเน้นการเสริมสร้างสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้อาศัยภายในอาคาร ภายในสำนักงานแห่งนี้ยังประกอบด้วยพื้นที่ “co-working” และสิ่งอำนวยความสะดวกสนับสนุนให้ทุกทีมสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ที่มาภาพ/ข้อมูล : https://www.nstda.or.th/home/news_post/pr-nstda-19122566/