Search
Close this search box.

การขับเคลื่อนเกษตรแปลงใหญ่สู่ BCG Model

share to:

Facebook
Twitter

นางสาวกัญณฐา อภินนท์ธนา เกษตรจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า สำหรับการขับเคลื่อน BCG Model ของจังหวัดนครพนมนั้น จะใช้ระบบเกษตรแปลงใหญ่ที่ใช้ระบบส่งเสริมการเกษตร ที่ประกอบไปด้วย 5 องค์ประกอบ คือ การถ่ายทอดความรู้ การเยี่ยมเยียน การสนับสนุน การนิเทศงาน และการจัดการข้อมูล และด้วยพื้นที่อำเภอโพนสวรรค์ มีการปลูกมันสำปะหลังจำนวนมากที่สุดในจังหวัดนครพนม คือปลูกทั้งสิ้นประมาณ 9,000 กว่าไร่

ดังนั้นเราจึงต้องการพื้นที่นี้มาเป็นโมเดลในการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ BCG Model โดยจะมุ่งเน้นให้เกษตรกรนำวัสดุต่าง ๆ ทุกอย่างของต้นมันสำปะหลัง ไม่ว่าจะเป็น ใบ ลำต้น เหง้า และ หัวมันสำปะหลัง กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด ที่สำคัญคือมีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดการต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มของการผลิตในพื้นที่ กลายเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นให้กับชุมชน ทั้งยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้นด้วย

ด้านนายศรีรัตน์ ยางทิสาร สมาชิกแปลงใหญ่กลุ่มมันสำปะหลัง อ.โพนสวรรค์ จ.นครพนม กล่าวเพิ่มเติมว่า หลายคนอาจสงสัยว่าการเข้าเกษตรแปลงใหญ่แล้วได้อะไร ก็ขอบอกว่าได้ความรู้ อย่างเช่นมันสำปะหลังที่ปลูกนั้นไม่ใช่ว่าจะขายแต่หัวมันได้เพียงอย่างเดียวเราสามารถแปรสภาพเป็นอย่างอื่นได้ แล้วก็ได้ความเป็นพี่เป็นน้อง ความสมัครสมานสามัคคี มีการตั้งกลุ่มรวมกันคิดร่วมกันทำ ใครมีปัญหาอะไรก็สามารถปรึกษาซึ่งกันและกันได้ คนที่ทำไม่สำเร็จทุกคนก็จะช่วยกันพยุงไปสู่ความสำเร็จ ซึ่งตนเองมีความภูมิใจ ดีใจและชอบการทำแบบนี้ บอกตรง ๆ เลยว่าเงินทองนั้นหาง่ายแต่น้ำใจในทุกวันนี้หายากขึ้น

สำหรับรายได้นั้นถ้าเราสามารถผลิตได้อย่างที่วางไว้ เฉลี่ยอยู่ที่ 5-6 ตันต่อไร่ในรูปแบบการปลูกต่อปีที่ไม่ใช่แบบน้ำหยดถือว่าดีที่สุดแล้ว เพราะถ้าจำหน่ายได้ในราคากิโลกรัมละ 2 บาท จะมีรายได้ตกอยู่ที่ไร่ละประมาณ 10,000 บาท อย่างแปลงสาธิตที่ปลูกอยู่ 4 ไร่นี้ ก็จะมีเงินอยู่ประมาณ 40,000 บาท เราก็ต้องมาวางแผนการเก็บเงินให้ดีเพราะเราต้องซื้อกากอ้อยมาทำปุ๋ยอยู่ประมาณ 12,000 บาท ดังนั้นถ้าคิดง่าย ๆ เราเก็บเงิน 10,000 บาทไว้เป็นต้นทุนค่าปุ๋ย เราจะไม่ขาดทุนอย่างแน่นอน เพราะกากอ้อยที่ใช้จะบำรุงได้ 3 ปีต่อการใช้ 1 ครั้ง นั้นหมายถึงเราจะลดต้นทุนลง ยิ่งถ้าเราทำการเกษตรให้มีต้นทุนน้อยได้มากเท่าไหร่เราจะยิ่งมีกำไรเยอะขึ้น ซึ่งในความเป็นจริงไม่จำเป็นต้องปลูกให้ได้จำนวนมาก แต่เราจะต้องรู้จักหาวิธีว่าจะทำยังไงให้ได้ผลผลิตสูงที่สุด ส่วนเงินที่เหลือ 30,000 บาท เราก็จะต้องไปบริหารจัดการว่าจะทำอะไรต่อไป อีกอย่างที่ต้องเข้าใจคือแปลงที่ทำนี้เป็นแปลงสาธิต เป็นแปลงนำร่อง ยังไม่ได้ทำเต็มตัว เพราะฉะนั้นเมื่อเห็นว่าประสบผลสำเร็จมีกำไรอย่างที่เห็นในตอนนี้ก็จะต้องมีการลงทุนต่อและขยายเพิ่มขึ้น

สำหรับตนเองมองว่าโครงการนี้ถือว่าดีมากขอยกนิ้วให้ เพราหน่วยงานได้ลงมาสนับสนุนในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง พอเราทำได้ตามขั้นตอนที่วางไว้ได้ทั้งหมดก็เห็นว่าแปลงเกษตรที่ทำมีผลผลิตที่เพิ่มมากขึ้น ที่สำคัญคือโครงการนี้ ทำให้เกษตรกรอย่างเราไม่ต้องตกเป็นเบี้ยล่างของใคร เพราะเราปลูกเอง ผลิตเอง ขายเอง สามารถตั้งราคาได้

 

ที่มาภาพ/ข้อมูล : https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG230920193900123