Search
Close this search box.

ส.ปชส.ตราด ประชาสัมพันธ์ ครม.รับทราบแนวทางหนุนใช้เอทานอลในอุตสาหกรรมอื่น

share to:

Facebook
Twitter

(16 มิ.ย. 66) สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดตราด รายงานว่า คณะรัฐมนตรี รับทราบแนวทางส่งเสริมการนำเอทานอลไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นนอกเหนือจากการเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพและการผลิตสุรา ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อแก้ปัญหาเอทานอลล้นตลาด ซึ่งมีผลต่อพืชเกษตรที่นำมาผลิตเอทานอล เช่น กากน้ำตาล (อ้อย) และมันสำปะหลัง และยังเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ช่วยกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชนและสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสำหรับผู้ผลิตเอทานอลในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพรองรับเป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี พ.ศ. 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิ เป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2608

ภาพรวมเกี่ยวกับเอทานอลในไทย

เอทานอล (Ethanol) คือผลผลิตจากพืชชนิดแป้งและน้ำตาล รวมถึงวัสดุเหลือใช้จากอุตสาหกรรมเกษตร โดยผ่านกระบวนการหมักเพื่อใช้เป็นส่วนผสมในน้ำมันเชื้อเพลิง เช่น การผสมเอทานอลในน้ำมันเบนซินในกลุ่มน้ำมัน แก๊สโซฮอล์ 91 แก๊สโซฮอล์ 95 E20 และ E85 อีกทั้งนำไปใช้ในอุตสาหกรรม อาหาร เครื่องดื่ม และยา เป็นต้น

ปัจจุบันกำลังการผลิตเอทานอลของไทย มีอยู่ทั้งสิ้นประมาณ 3,123 ล้านลิตร แต่ความต้องการใช้อยู่ที่ 1,583 ล้านลิตรต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ในการผลิตเชื้อเพลิงประมาณ 1,483 ล้านลิตร

จากสถานการณ์ปัจจุบันจะเห็นว่ายังมีตัวเลขกำลังการผลิตส่วนเกินจำนวนมาก ประกอบกับประเทศไทยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยียานยนต์ไปสู่การใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น ทำให้แนวโน้มการใช้พลังงานจากน้ำมันเชื้อเพลิงลดลง ซึ่งจะทำให้การใช้เอทานอล ในอนาคตลดลงไปด้วย หากไม่มีการวางแนวทางการแก้ปัญหาไว้ล่วงหน้าอาจกระทบกับผู้ประกอบการและเกษตรกรผู้ปลูกพืชเกษตร ที่เข้าสู่กระบวนการผลิตเอทานอล

แนวทางส่งเสริมการนำเอทานอลไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่น

สำหรับการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เศรษฐกิจ BCG Model รัฐบาลจึงตระหนักถึงการปรับตัวและการพัฒนาอุตสาหกรรมเอทานอลให้เกิดความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ นำเอทานอลเป็นวัตถุดิบในการผลิตเม็ดพลาสติก (อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ) ซึ่งสามารถช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ในปริมาณมาก อีกทั้งจะช่วยส่งเสริมให้มีการใช้เอทานอลอย่างต่อเนื่อง ประมาณ 450 ล้านลิตรต่อปี จึงเป็นโอกาสที่เหมาะสมในการสนับสนุนการลงทุนดังกล่าว โดยมีแนวทางส่งเสริมการนำเอทานอลไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ดังนี้

1. การจัดทำมาตรฐานการผลิตเอทานอล เพื่อให้การอนุญาตนำเอทานอลแปลงสภาพหรือบริสุทธิ์ ไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอื่น โดยให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำมาตรฐานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญภายในประเทศ ผู้ผลิตเอทานอล และผู้ใช้เอทานอล รวมถึงสนับสนุนการพัฒนามาตรฐานทางเทคนิคและการพัฒนาบุคลากรให้สามารถเป็นผู้ตรวจประเมินตามมาตรฐาน และให้มีการจัดตั้งหน่วยรับรอง เพื่อกำหนดมาตรฐานความยั่งยืนของการผลิตเอทานอลด้วย

2. การจัดทำความตกลงร่วมกัน (MOU) ร่วมกันระหว่างผู้ผลิตเอทานอลและผู้ใช้เอทานอล โดยกำหนดรายละเอียดปริมาณ เอทานอลที่ต้องส่งมอบ และระยะเวลาอย่างชัดเจน เพื่อเป็นกลไกการจัดซื้อและจัดหาเอทานอลล่วงหน้า ให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ

3. การแต่งตั้งคณะกรรมการ เพื่อกำหนดปริมาณการซื้อขาย เอทานอลจากผู้ผลิตในประเทศล่วงหน้า และกำหนดปริมาณการนำเข้าเอทานอลที่จะได้รับสิทธิอากรขาเข้าอัตราพิเศษจากการนำเข้าเอทานอล เพื่อนำมาใช้ในการผลิตเอทิลีนชีวภาพสำหรับสินค้าพลาสติกชีวภาพ ในกรณีที่ผู้ผลิตภายในประเทศ ไม่สามารถผลิตเอทานอลได้ตรงตามมาตรฐานที่ยอมรับร่วมกัน ระหว่างผู้ผลิตเอทานอลและผู้ใช้เอทานอล และไม่สามารถ ผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้เอทานอล

4. การสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรและผู้ผลิตเอทานอลในประเทศ ให้สามารถผลิตเอทานอลที่มีคุณภาพและมาตรฐาน

5. การออกกฎหมายและแก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น การอนุญาตให้ผู้รับใบอนุญาตผลิตสุรากลั่น ชนิดเอทานอล สามารถนำเอทานอลไปจำหน่ายให้กับอุตสาหกรรมอื่น การเพิ่มพิกัดอัตราภาษีสำหรับสินค้าเอทิลีนชีวภาพ ซึ่งจะเป็นการกำกับดูแลและควบคุม การใช้เอทานอลในการผลิตสินค้าในอุตสาหกรรมอื่น และกำหนดให้มีอัตราภาษีศูนย์

สำหรับแนวทางดังกล่าว จะเป็นการส่งเสริมการปรับตัว และพัฒนาอุตสาหกรรมเอทานอลให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้มีการใช้เอทานอลอย่างต่อเนื่อง และยังสามารถช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ในปริมาณมากด้วย หากประเทศไทยสามารถปรับกระบวนการผลิตเป็นพลาสติกชีวภาพได้ทั้งหมด 5 ล้านตัน จะช่วยสนับสนุนความต้องการเอทานอลมากกว่า 10,000 ล้านลิตร/ปี ทำให้เกษตรกรและผู้ผลิตมีความมั่นใจในการลงทุนพัฒนาคุณภาพเอทานอลในประเทศให้มีมาตรฐานระดับสากล ส่งเสริมและสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งส่งผลดีในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศจากโอกาสดังกล่าว ที่สำคัญยังเป็นการตอบสนองต่อฉันทามติสากล ในการลดการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ และส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจ BCG อย่างแท้จริง

 

 

ที่มาภาพ/ข้อมุล : https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG230616161642578