Search
Close this search box.

กสก.หนุนเกษตรกรรุ่นใหม่ ปรับตัวทำเกษตรมูลค่าสูง เพื่อสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืน

share to:

Facebook
Twitter

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร แนะภาคการเกษตรไทยโดยเฉพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์สู่ ‘การทำเกษตรมูลค่าสูง’ ทั้งเกษตรประณีตและแม่นยำ ใช้เครือข่ายนวัตกรรม ความร่วมมือ เพื่อสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืน

นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวในโอกาสที่ได้รับเกียรติจากโครงการความร่วมมือระหว่าง เยอรมัน-ไทย เพื่อส่งเสริมระบบและการบริหารจัดการด้านการเกษตรอย่างยั่งยืนผ่านเครือข่ายนวัตกรรม ให้ขึ้นกล่าวถ้อยแถลง หัวข้อ “การพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศไทยและระบบอาหารยั่งยืน” ในงาน Agritechnica Asia 2024 ซึ่งจัดขึ้น ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา ว่า ระบบอาหารที่ยั่งยืนเป็นหัวใจสำคัญของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) ซึ่งในปี 2558 SDGs ได้เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงด้านการเกษตรและระบบอาหารเพื่อยุติความหิวโหยให้บรรลุความมั่งคงทางด้านอาหารและปรับปรุงโภชนาการภายในปี พ.ศ. 2573 ข้อมูลจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า ในปี 2566 ประชากรโลกกว่า 7 แสนคน ประสบกับปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหารเฉียบพลันอย่างรุนแรงที่สุด และมีความเสี่ยงต่อความอดอยากในระดับภัยพิบัติ ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่านับตั้งแต่ปี 2559 และถือเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์นับตั้งแต่มีการรายงานมา

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวต่อว่า ประเทศไทยมีการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบอาหารที่ยั่งยืนและส่งเสริมความเท่าเทียม สะท้อนแนวคิดที่ว่าระบบอาหารเป็นปัจจัยหลักที่ส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทุกหัวข้อ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ร่วมกับภาคีต่างๆ กำหนดการดำเนินการที่เรียกว่า 5 Action Tracks ภายใต้แนวทางขององค์การสหประชาชาติ ได้แก่ อิ่มดีถ้วนหน้า อิ่มดีมีสุข อิ่มดีรักษ์โลก อิ่มดีทั่วถึง และ อิ่มดีทุกเมื่อ นอกจากนี้ยังมีนโยบายและวางเป้าหมายการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการเกษตรและอาหารของโลก และการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรเป็น 3 เท่า ภายใน 4 ปี การขับเคลื่อนนโยบายเกษตรและอาหารด้วย 3S ได้แก่ความปลอดภัยทางอาหาร (Safety) ความมั่นคง (Security) และยั่งยืนของทรัพยากรและนิเวศการเกษตร (Sustainability) เพื่อให้สามารถผลิตอาหารได้อย่างเพียงพอและปลอดภัยต่อผู้บริโภคทั้งภายในและภายนอกประเทศ รวมทั้งการรักษาสมดุลสิ่งแวดล้อมและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ดิน และน้ำ ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

แหล่งที่มาภาพและข้อมูล/อ่านเพิ่มเติม : https://www.thairath.co.th/agriculture/agricultural-policy/2788211