(วันที่ 9 เมษายน 2567) ณ ห้องบุรฉัตรไชยากร ชั้น 4 สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ จ.นนทบุรี : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับ 9 หน่วยงานนวัตกรรมและมหาวิทยาลัยลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการพัฒนาเชื่อมโยงระหว่างการค้า การตลาดเ การวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยได้รับเกียรติจาก นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และ นางสาวสุณีย์ เลิศเพียรธรรม หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นสักขีพยาน พร้อมด้วยผู้บริหารจาก 9 หน่วยงาน โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีรชัย อาจหาญ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นผู้แทนร่วมลงนาม
ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าวเพื่อพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในระดับสากลด้วยการเพิ่มมูลค่าสินค้าส่งออกด้วยงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม เสริมสร้างช่องทางการตลาดให้ผู้ประกอบการที่มีนวัตกรรมของไทยสามารถขยายตลาดสู่ต่างประเทศและก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้งานวิจัยและนวัตกรรมของไทยให้มีความสอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลกและตอบสนองต่อความต้องการ Megatrends และ Next Normal และช่วยยกระดับภาคการส่งออกของไทยด้วยงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม และเสริมสร้างภาพลักษณ์สินค้าของประเทศไทยในตลาดโลก เพื่อเชื่อมโยงระหว่างการค้า การตลาด การวิจัย และนวัตกรรมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีรชัย อาจหาญ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. เป็นขุมพลังหลักของประเทศ ในการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อพัฒนานวัตกรรมให้ตอบโจทย์ นำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างก้าวกระโดด มุ่งเน้นการทำงานร่วมกับพันธมิตรที่หลากหลาย เพื่อให้ภาคเอกชนได้เข้าถึงบริการโครงสร้างพื้นฐานด้าน วทน. ของภาครัฐได้อย่างครบวงจร อีกทั้ง สวทช. ได้ร่วมดำเนินการตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม คำนึงถึงการนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด ซึ่งต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อม ให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน เนื่องจากปัจจุบันประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมีความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนมากขึ้น
“ในการส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้มุ่งไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียว และการทำโครงการนวัตกรรมร่วมกับภาคเอกชนในการนำของเสียหรือวัสดุเหลือทิ้ง (by product) ของอุตสาหกรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น การผลิตเม็ดมวลเบาสังเคราะห์จากเถ้าลอย การนำเถ้าขยะอุตสาหกรรมมาผลิตกระเบื้องการนำเศษแก้วมาผลิตกระเบื้องและ สารเคลือบการผลิตวัสดุจีโอโพลิเมอร์จากเศษกระเบื้องและเศษแก้ว การผลิตผงสีจากกากของเสียอุตสาหกรรมเหล็ก การนำ by product ในอุตสาหกรรมอาหารมาเป็นวัสดุ biomaterial สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก เป็นต้น นอกจากนี้ สวทช. โดยศูนย์ข้อมูลวัฏจักรชีวิตแห่งชาติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร สนับสนุนกลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมและกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ให้มีข้อมูลเพื่อรองรับมาตรการ CBAM ซึ่งเป็นข้อกำหนดในการส่งออกสินค้าไปยุโรป โดยอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำฐานข้อมูลของอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมและ กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ที่สามารถสะท้อนและเป็นตัวแทนของข้อมูลภาคการผลิตของกลุ่มอะลูมิเนียมและเหล็กของไทยได้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยยกระดับการพัฒนา ขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทยด้านคาร์บอนได้เป็นอย่างดี
ความร่วมมือครั้งนี้ สวทช. มีความพร้อมในการบูรณาการความร่วมมือกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และหน่วยงานพันธมิตรทุกภาคส่วน เพื่อตอบเป้าหมาย BCG ของประเทศ ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างมั่นคง อีกทั้งยังพึ่งพาตัวเองได้ และนำนวัตกรรมไทยแข่งขันบนเวทีโลกได้อย่างยั่งยืน
ที่มาภาพ/ข้อมูล : https://www.nstda.or.th/home/news_post/prnstda09032567/