(วันที่ 9 มกราคม2567) ณ หอประชุมศูนย์ราชการจังหวัดสระบุรี : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นำโดย ดร. สมบุญ สหสิทธิวัฒน์ รองผู้อำนวยการ สวทช. ได้เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์พร้อมลงนามบันทึกข้อตกลงกรอบความร่วมมือ 15 เครือข่ายพลังงานภาครัฐและเอกชนเพื่อเปลี่ยนสู่พลังงานสะอาด ลดโลกร้อน ขับเคลื่อนจังหวัดสระบุรีเมืองคาร์บอนต่ำ “PPP-Saraburi Sandbox : A Low Carbon City” ชู วทน. เสริมทัพพลังงานสะอาด ตอบนโยบายเศรษฐกิจ BCG เพื่อความยั่งยืนทางพลังงานของไทย
ดร. สมบุญ สหสิทธิวัฒน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อเปลี่ยนสู่พลังงานสะอาดขับเคลื่อนจังหวัดสระบุรีเมืองคาร์บอนต่ำ “PPP-Saraburi Sandbox : A Low Carbon City” ในครั้งนี้ เป็นการประกาศเจตนารมณ์กรอบความร่วมมือระหว่างเครือข่ายพลังงานภาครัฐและเอกชน ที่สอดรับกับนโยบายของ สวทช. ในการขับเคลื่อน BCG ตามภารกิจของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
“สวทช. เป็นขุมพลังหลักด้าน วทน. ของประเทศ อยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. เราพร้อมเดินหน้าพันธกิจร่วมขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG สู่ความยั่งยืน ซึ่งหนึ่งในนั้น คือเรื่องของพลังงานสะอาด ที่ทีมวิจัยจากศูนย์แห่งชาติภายใต้ สวทช. ร่วมกันพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อตอบทิศทางและความต้องการด้านพลังงานในอนาคต” ดร. สมบุญ ชี้ จากความรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านนี้ ทำให้ สวทช. ร่วมเป็นหนึ่งในคณะทำงานขับเคลื่อนด้านการเปลี่ยนสู่พลังงานสะอาด ร่วมกับพันธมิตรเครือข่ายพลังงานขับเคลื่อนให้เกิด ‘สระบุรีแซนด์บ๊อกซ์’ จังหวัดต้นแบบที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในระยะเวลา 4 ปี พร้อม 19 โครงการนำร่องที่ตอบโจทย์สระบุรีแซนด์บ๊อกซ์ และสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของสระบุรี
ดร. สมบุญชี้ว่า สวทช. มี 2 บทบาท ในการขับเคลื่อนความร่วมมือนี้ คือ ส่งเสริมสนับสนุนให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษา วิจัย จัดทำนวัตกรรมเพื่อให้เกิดการประยุกต์หรือถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเปลี่ยนแปลงสู่พลังงานสะอาดและการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และสนับสนุนการสำรวจประเมินศักยภาพเชิงพื้นที่ในการเปลี่ยนสู่พลังงานสะอาด และประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการวางแผนงานต่างๆ หนึ่งในโครงการนำร่องของ สวทช. คือ เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บก๊าซ CO2 หรือ carbon capture, utilization and storage (CCUS) ปัจจุบันประกอบด้วย 2 เทคโนโลยีที่สำคัญได้แก่ 1) carbon capture and storage (CCS) และ 2) carbon, capture and utilization (CCU) ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีที่สำคัญในการขับเคลื่อนเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนอย่างยั่งยืน
โดยภายในงาน ทีมสวทช.ได้นำเสนอนวัตกรรมจากกลุ่มวิจัยการเร่งปฏิกิริยาและการคำนวณระดับนาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค-สวทช.) คือ “ถ่านชีวภาพ” หรือ “BioCoal” เชื้อเพลิงแข็งชีวภาพจากของเหลือใช้ทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นใบอ้อย ใบข้าวโพด เหง้ามันสำปะหลัง ทะลายปาล์ม ไม้โตไวตระกูลกระถิน เปลือกไม้ยูคาลิปตัส เป็นต้น ที่มีสมบัติต่างๆ ใกล้เคียงกับถ่านหิน ผลิตโดยกระบวนการที่เรียกว่า ทอร์รีแฟคชัน (Torrefaction) ซึ่งเป็นการปรับปรุงคุณภาพและเปลี่ยนรูปชีวมวลผ่านกระบวนการทางเคมีความร้อน โดยให้ความร้อนแก่ชีวมวลในสภาวะไร้ออกซิเจนหรือจำกัดออกซิเจน (อากาศ) ในช่วงอุณหภูมิ 200-300 องศาเซลเซียส ถ่านชีวภาพสามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงร่วม (Co-firing) หรือทดแทน (Replacement) เชื้อเพลิงชีวมวลและถ่านหินสำหรับการผลิตกระแสไฟฟ้าหรือความร้อนได้ โดยทีมวิจัยมีการทดลอง ผลิต ทดสอบ วิเคราะห์ รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยีระบบผลิตถ่านชีวภาพที่สามารถต่อยอดสู่การใช้งานจริงในระดับอุตสาหกรรมอีกด้วย
“สวทช. เราตั้งใจที่จะเป็นหนึ่งฟันเฟือง ที่ใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญและกำลังคนที่มีศักยภาพ สนับสนุน ขับเคลื่อนโครงการนี้ร่วมกับพันธมิตร ให้สระบุรีแซนด์บ๊อกซ์ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ และขยายสู่พื้นที่ต่างๆ ในประเทศ นำสู่ความมั่นคงและยั่งยืนทางพลังงานในอนาคต” ดร. สมบุญทิ้งท้าย
ที่มาภาพและข้อมูล / สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.nstda.or.th/home/news_post/nstda_sandbox_saraburi/