สวทช.-สวก.-กรมส่งเสริมการเกษตร ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลังในระบบอินทรีย์ นำร่องชาวไร่มันฯ พื้นที่อีสาน 160 ราย ผลิตมันอินทรีย์ 500 ไร่ ผลผลิตเพิ่ม 20-30%

share to:

Facebook
Twitter

(23 กุมภาพันธ์ 2567) ณ แปลงเกษตรกรต้นแบบ (นายรังสรรค์ อยู่สุข) หมู่ 10 ต.นาคาย อ.ตาลสุม จ.อุบลราชธานี: นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นประธานเปิดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) ประจำปี 2567


โดยมีนางสาววิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เกษตรจังหวัดอุบลราชธานี ภาคเอกชนและเกษตรกรในพื้นที่เข้าร่วมงาน

นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร มีความมุ่งมั่น ส่งเสริมให้เกษตรกรมีความเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้ มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยได้รับการส่งเสริมพัฒนาขีดความสามารถในการผลิตและจัดการสินค้าตามความต้องการของตลาดได้  เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยได้รับบริการทางการเกษตร และองค์ความรู้จากการศึกษา วิจัยและพัฒนางานด้านส่งเสริมการเกษตร ร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วน เพื่อให้เกษตรกรสามารถผลิตปัจจัยทางการเกษตรที่มีคุณภาพและมาตรฐาน โดยงานวันถ่ายทอดผลงานวิจัยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ตามค่าวิเคราะห์ดินสำหรับมันสำปะหลังอินทรีย์สู่เกษตรกรเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) ประจำปี 2567 ในครั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมกับ สวทช. สวก. และภาคเอกชนในพื้นที่ขับเคลื่อนภารกิจในปี 2567 โดยนำนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ สร้างสินค้าเกษตรมูลค่าสูง (High Value) ควบคู่ไปกับการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า ทำเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Low Carbon) และเพิ่มพื้นที่สีเขียวในภาคการเกษตร ที่ขับเคลื่อนตามนโยบาย BCG Economy Model เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน สมดุล ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม

“หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมไปถึงหน่วยงานภาคีต่าง ๆ ได้ร่วมกันบูรณาการ การดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่สำคัญ คือ “เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายได้เพิ่มขึ้น” เนื่องจากสถานการณ์การผลิตสินค้าเกษตรในปัจจุบันมีการแข่งขันค่อนข้างสูงทั้งด้านปริมาณและด้านคุณภาพ ขณะเดียวกันพี่น้องเกษตรกรส่วนใหญ่ ยังมีการผลิตและจำหน่ายสินค้าเกษตรแบบรายย่อย ทำมากแต่ได้ผลตอบแทนน้อย ขาดโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน ปัจจัยการผลิตและตลาด ที่สำคัญที่สุดเกษตรกรผลิตสินค้าไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ขาดการรวมกลุ่ม จึงทำให้ยากต่อการจัดการผลผลิตจากสภาพปัญหาที่เกษตรกรต้องเผชิญอยู่ จึงบูรณาการร่วมกันดำเนินกิจกรรม “ถ่ายทอดความรู้แบบเห็นของจริง” เพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรได้เรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่ และได้รับการให้บริการด้านการเกษตร เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถเริ่มต้นการผลิตในปีการเพาะปลูกใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการวางแผนการผลิต เข้าถึงตลาดและปัจจัยการผลิต ลดความเสี่ยงในการทำการเกษตร ตามนโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ซึ่งหากเกษตรกรนำองค์ความรู้ที่เหมาะสมไปประยุกต์ใช้ในแปลงของตนเอง จะทำให้ลดต้นทุน เพิ่มมูลค่าสินค้า ยกระดับสินค้าสู่มาตรฐานและต่อยอดถึงการรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชน แปลงใหญ่ ที่มีการบริหารจัดการกลุ่ม และช่วยเพิ่มโอกาสในการพัฒนาสินค้าเกษตรให้มีมูลค่าสูงขึ้นต่อไป” นายพีรพันธ์ กล่าวทิ้งท้าย
น.ส.วิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สวทช. มีทีมนักวิชาการเข้ามาทำโครงการการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลัง ในระบบอินทรีย์ด้วยกลไกตลาดนำการผลิต เพื่อเป็นพี่เลี้ยงให้เกษตรกรและถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ในการผลิตมันสำปะหลังในระบบเกษตรอินทรีย์ ด้วยกลไกตลาดนำการผลิต เนื่องจากปัญหาของการผลิตมันสำปะหลังเคมี เกษตรกรมักจะประสบปัญหาความผันผวนของราคา รายได้น้อย ต้นทุนสูง ดังนั้นการผลิตมันสำปะหลังในระบบเกษตรอินทรีย์ จึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร เนื่องจากมันสำปะหลังอินทรีย์สามารถจำหน่ายได้ในราคาสูง เพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร โดยมี บริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นภาคเอกชนในพื้นที่ต้องการมันสำปะหลังอินทรีย์ปีละไม่น้อยกว่า 300,000 ตัน แต่ปัญหาคือการปรับเปลี่ยนการปลูกมันสำปะหลังจากแปลงเคมีมาผลิตตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ พี่น้องเกษตรกรยังขาดองค์ความรู้เรื่องการเลือกใช้พันธุ์มันสำปะหลังในระบบอินทรีย์ ขาดความรู้ในการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ การจัดการโรคและแมลงในระบบอินทรีย์ รวมทั้งขาดความรู้ในการขอขึ้นทะเบียนมาตรฐานอินทรีย์ต่าง ๆ

“ดังนั้น การผลักดันและส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าถึงองค์ความรู้เพื่อผลิตมันสำปะหลังให้ได้ตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ จึงเป็นกลไกที่สำคัญที่ช่วยยกระดับรายได้ของเกษตรกรจากการจำหน่ายและทำให้ผลผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์เพียงพอต่อความต้องการของตลาด เป็นไปตามนโยบายของกระทรวง อว. ที่มุ่งเน้นการทำวิจัยและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ ตรงความต้องการ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศ ภายใต้หลักการสำคัญ คือ “เอกชนนำ รัฐสนับสนุน” น.ส.วิราภรณ์ กล่าว
นายชวินทร์ ปลื้มเจริญ นักวิชาการฝ่ายถ่ายทอดเทคโนโลยี สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สวทช. กล่าวเสริมว่า สวทช. ดำเนินโครงการดังกล่าวภายใต้ความร่วมมือระหว่าง บริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน) ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรยโสธร และสำนักงานเกษตรจังหวัดอุบลราชธานี โดยร่วมกันกำหนดเป้าหมาย ถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ในการผลิตมันสำปะหลังในระบบเกษตรอินทรีย์ให้กับเกษตรกรในเครือข่ายพื้นที่เป้าหมายจังหวัดอุบลราชธานี และยโสธร ด้วยกลไกตลาดนำการผลิต ไม่น้อยกว่า 100 คน เพิ่มพื้นที่ผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์รวม 500 ไร่ ให้ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (ระยะปรับเปลี่ยน) ผลผลิตมันสำปะหลังไม่น้อยกว่า 1,500 ตัน มีการประกันราคารับซื้อและหน่วยงานสำนักงานเกษตรจังหวัดร่วมขับเคลื่อนการขยายผลในพื้นที่เกษตรกร เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลัง และสร้างเครือข่ายผู้ผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้โครงการฯ ได้ร่วมกันคัดเลือกพื้นที่สำหรับขับเคลื่อนการผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ ได้แก่ กลุ่มเกษตรกร ตำบลนาคาย อำเภอตาลสุมและตำบลสำโรง อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี กลุ่มเกษตรกรตำบลคูเมือง ตำบลฟ้าหยาด อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร  กลุ่มเกษตรกรตำบลหนองไฮ อำเภอปทุมราชวงศา จังหวัดอำนาจเจริญ จำนวน 160 คน พื้นที่ปลูก 738 ไร่ โดยประสานสำนักงานเกษตรฯ ในพื้นที่ และภาคเอกชน และกำหนดเจ้าหน้าที่ประสานงานในพื้นที่เป้าหมาย เพื่อร่วมกิจกรรมการถ่ายทอดเทคโนโลยีของโครงการฯ
“จากการวิเคราะห์โจทย์ปัญหาของเกษตรกรกับการผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ จ.อุบลราชธานี และยโสธร พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ เนื่องจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น 1.ขาดความรู้ความเข้าใจในการขอรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ 2.เกษตรกรมีความคุ้นเคยกับการใช้ปุ๋ยเคมี และสารเคมีการป้องกันศัตรูพืช และ 3.เกษตรกรขาดองค์ความรู้ในการผลิตมันสำปะหลังในระบบเกษตรอินทรีย์ทำให้ผลผลิตต่ำและต้นทุนสูง
ดังนั้นโครงการฯ จึงได้ร่วมกันกำหนดขั้นตอนการส่งต่อความรู้ให้เกษตรกร โดยจัดทำแปลงต้นแบบการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสม จำนวน 36 แปลง ปรับใช้เทคโนโลยีการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน 1 ไร่ เปรียบเทียบกับการใช้ปุ๋ยเดิมของเกษตรกร เพื่อให้เป็นแหล่งถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ และดำเนินงานถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตในหลักสูตรการอบรมเชิงปฏิบัติการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ให้กับเกษตรกรในพื้นที่เป้าหมาย”

นายชวินทร์ กล่าวต่อว่า ทีมนักวิชาการ สวทช. และพันธมิตรร่วมกันกำหนดหัวข้อการดำเนินการ คือ 1. การผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์และการรับรองมาตรฐานอินทรีย์ 2.การตรวจวิเคราะห์ดินและการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ตามค่าวิเคราะห์ดินโดยเทคโนโลยี Smart NPK และ 3.การป้องกันกำจัดโรคไวรัสใบด่างมันสำปะหลังด้วยชุดตรวจโรคไวรัสใบด่างมันสำปะหลังแบบ Strip Test โดยทีมวิชาการ สวทช.ได้ให้การอบรมในพื้นที่ 3 จังหวัด รวม 7 ครั้ง มีเกษตรกรผู้ได้รับการถ่ายทอดรวม 160 คน ผลการดำเนินงาน พบว่า แปลงต้นแบบที่ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ตามค่าวิเคราะห์ดิน 80% มีค่าวิเคราะห์ดินที่ดีขึ้น จำนวนหัวตัวเหง้าเพิ่มขึ้น ปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น และกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 20-30% ซึ่งชี้ให้เห็นว่าการลงทุนเพิ่มจากการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ตามค่าวิเคราะห์ดินนั้นให้ผลกำไรที่เพิ่มขึ้นตามมาด้วย สำหรับแผนการดำเนินงานต่อไป คือ โครงการฯจะขยายผลจากแปลงต้นแบบร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัด เพื่อขับเคลื่อนเป็นแผนงานจังหวัดต่อไป

 

ที่มาข้อมูล/อ่านทั้งหมดได้ที่ : https://www.nstda.or.th/home/news_post/prnstda-23022567/