Search
Close this search box.

มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ จัดอบรมภายใต้โครงการวิจัย เรื่อง นวัตกรรมการจัดการเปลือกทุเรียนวัสดุเหลือทิ้งเป็นอาหารสัตว์

share to:

Facebook
Twitter

มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ จัดอบรมภายใต้โครงการวิจัย เรื่อง นวัตกรรมการจัดการเปลือกทุเรียนวัสดุเหลือทิ้งเป็นอาหารสัตว์ ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และสร้างมูลค่าเพิ่มในจังหวัดชายแดนใต้

เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2566 รองศาสตราจารย์ ดร.วสันต์ พลาศัย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ เปิดการอบรมภายใต้โครงการวิจัย เรื่อง นวัตกรรมการจัดการเปลือกทุเรียนวัสดุเหลือทิ้งเป็นอาหารสัตว์ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และสร้างมูลค่าเพิ่มในจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเป็นโครงการวิจัยที่อยู่แพลตฟอร์มการจัดการความรู้ งบประมาณประจำปีงบประมาณ 2566 ที่คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครนิทร์ อำเภอเมืองนราธิวาส

รองศาสตราจารย์ ดร.วสันต์ พลาศัย กล่าวว่า จังหวัดนราธิวาส มีทุนเชิงธรรมชาติ ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งโครงการวิจัยดังกล่าวมีแนวคิดลดขยะให้เป็นศูนย์ Zero Waste โดยการนำเปลือกทุเรียนทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มและสามารถใช้ประโยชน์ได้ เช่น การผลิตเป็นอาหารสัตว์ ซึ่งเป็นครั้งแรกของการดำเนินการโดยคณะเกษตรศาสตร์ อีกทั้งยังตอบโจทย์การขับเคลื่อน BCG Model อีกด้วย

ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จักรพันธ์ พิชญพิพัฒน์กุล คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ กล่าวว่า โดยบริบทของพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภาคปศุสัตว์เป็นหนึ่งในนโยบายระดับพื้นที่ แต่ปัญหาที่พบคืออาหารสัตว์มีราคาค่อนข้างสูง จึงจำเป็นต้องหาแหล่งอาหารสัตว์ในพื้นที่ ซึ่งในพื้นที่มีทรัพยากรธรรมชาติมากมายที่สามารถนำเป็นอาหารสัตว์ได้ นอกจากนั้นในพื้นที่ยังมีวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรมากมาย ซึ่งเปลือกทุเรียนเป็นหนึ่งในวัสดุเหลือทิ้งที่มีมหาศาลในพื้นที่ ที่คณะเกษตรศาสตร์เล็งเห็นถึงประโยชน์ และนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ในการในกระบวนการเลี้ยงสัตว์ได้

ขณะที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ซารีนา สือแม หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า แนวคิดของโครงการวิจัยฯ เกิดจากการลงพื้นที่วิสาหกิจทุเรียนกวน ที่พบว่ามีปัญหาสถานที่ทิ้งเปลือกทุเรียนไม่เพียงพอและเกิดข้อพิพาทในพื้นที่ จึงมีแนวคิดนำเปลือกทุเรียนมาทำอาหารสัตว์ โดยในปี 2564 ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัย ในแพลตฟอร์ม Zero Waste นำวัสดุเหลือทิ้งมาใช้ประโยชน์ และในปี 2566 นี้ ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานวิจัยแห่งชาติ แพลตฟอร์มการจัดการความรู้ ทั้งนี้ได้กำหนดจัดการอบรมตามโครงการวิจัยฯ จำนวน 10 รุ่น มีกลุ่มผู้ประกอบการเลี้ยงโค แพะ นักวิชาการปศุสัตว์อาหารสัตว์ในพื้นที่ นักศึกษา เข้ารับการอบรม

 

ที่มาภาพ/ข้อมูล : https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG230907203024724