มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยสำนักงานประสานงานโครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการเรียนโค้ดดิ้งสำหรับนักเรียนพิการให้แก่คณะครูและนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยินและนักเรียนที่มีความบกพร่องทางร่างกายและการเคลื่อนไหวในโรงเรียนนำร่องที่จัดการเรียนการสอนนักเรียนพิการภายใต้โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อคนพิการของมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ จำนวน 10 โรงเรียน ตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน
โดยเนคเทค สวทช. สนับสนุนบอร์ด KidBright และสถานีวัดสภาพอากาศอุตุน้อย ผลงานวิจัยของเนคเทค ให้แก่ โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ สำหรับใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการเรียนการสอนโค้ดดิ้ง พร้อมทั้งร่วมกันจัดอบรมพัฒนาความรู้ด้านโค้ดดิ้งด้วยบอร์ด KidBright ให้แก่ครูและนักเรียนพิการอย่างต่อเนื่อง โดยกิจกรรมปี 2561 – 2563 คณะครูและนักเรียนพิการได้เรียนรู้การใช้งานบอร์ด KidBright ขั้นพื้นฐานจนถึงการจัดทำโครงงานสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัวด้วยบอร์ด KidBright และกิจกรรมปี 2564-2565 มีการเรียนรู้เรื่องวิทยาการข้อมูล (Data Science) ผ่านสถานีวัดสภาพอากาศอุตุน้อยและเว็บแอปพลิเคชัน PLAYGROUND ด้วยบอร์ด KidBright ซึ่งที่ผ่านมาครูและนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ สามารถพัฒนาโครงงานสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัวที่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือคนพิการและนำไปประกวดในเวทีต่าง ๆ ร่วมกับนักเรียนทั่วไปจนได้รับรางวัลจากการประกวยดแข่งชัน เช่น เวที Show & Share : สิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัวของมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ เวทีการประกวดนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์แนวใหม่ ระดับชาติ และเวทีศิลปหัตถกรรมนักเรียนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นต้น
เพื่อเป็นการต่อยอดความรู้ด้านโค้ดดิ้งให้แก่คณะครูและนักเรียนพิการในโครงการฯ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ ร่วมกับ สวทช. จัดอบรมหลักสูตรการอบรมเชิงฏิบัติการ เรื่อง “การพัฒนาโครงงานสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัวด้วย KidBright AI Platform” ระหว่างวันที่ 18 – 21 พฤศจิกายน 2566 ให้แก่คณะครูและนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยินและนักเรียนที่มีความบกพร่องทางร่างกายและการเคลื่อนไหว ในโรงเรียนนำร่องที่จัดการเรียนการสอนนักเรียนพิการภายใต้โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อคนพิการของมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จำนวน 10 โรงเรียน ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี และได้รับเกียรติจากอาจารย์วันทนีย์ พันธชาติ กรรมการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ กล่าวต้อนรับและเปิดหลักสูตรการอบรม ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2566 และได้รับเกียรติจาก ดร.พัชร์ลิตา ฉัตรวริศพงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ด้านพัฒนากำลังคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวแสดงความยินดีและปิดหลักสูตรการอบรม ในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566
นางสาววันทนีย์ พันธชาติ กรรมการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ กล่าวว่า มูลนิธิเทคโนโลยีสารเทศตามพระราชดำริฯ ร่วมกับ สวทช. ทำงานสนองพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า
กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในหลาย ๆ ด้าน รวมทั้งการส่งเสริมด้านการศึกษาให้แก่นักเรียนพิการ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนโค้ดดิ้งสำหรับนักเรียนพิการด้วยบอร์ด KidBright ให้แก่คณะครูและนักเรียนพิการในโรงเรียนนำร่องที่จัดการเรียนการสอนนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยินและนักเรียนที่มีความบกพร่องทางร่างกายและการเคลื่อนไหว ภายใต้โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อคนพิการของมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ 10 โรงเรียน จึงเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนด้านวิทยาการคำนวณที่มีอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนของ สพฐ. ให้แก่นักเรียนพิการ ซึ่งการเรียนโค้ดดิ้งจะช่วยพัฒนาศักยภาพของนักเรียนพิการให้มีการคิดเชิงระบบ การคิดเชิงวิเคราะห์และการคิดเชิงสร้างสรรค์ ส่งเสริมให้นักเรียนพิการเกิดการศึกษาค้นคว้า ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และการใช้ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ กระตุ้นให้นักเรียนเป็นนักประดิษฐ์ มีความสนใจทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อีกทั้งยังเป็นการสร้างพื้นฐานความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ให้กับนักเรียน เพื่อมุ่งสู่ Thailand 4.0 ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเท่าเทียมกับนักเรียนทั่วไป
ดร.พัชร์ลิตา ฉัตรวริศพงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สำหรับในปี 2566 มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ ร่วมกับ สวทช. ได้จัดกิจกรรมพัฒนาต่อยอดความรู้เรื่องเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) โดยได้จัดอบรมความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ให้แก่ครูและนักเรียนพิการในโครงการฯ ไปเมื่อวันที่ 4-7 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ทั้งนี้ เพื่อเป็นการต่อยอดความรู้ในการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาโครงงานสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝัง สวทช. จึงจัดอบรมเชิงเรื่อง “การพัฒนาโครงงานสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัวด้วย KIidBright AI Platform” ครั้งนี้ขึ้น เพื่อให้ครูและนักเรียนได้เรียนรู้และเข้าใจการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ผ่านเครื่องมือ KidBright AI Platform ร่วมกับบอร์ด KidBright สำหรับนำมาใช้ในการพัฒนาโครงงานสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัว ให้มีคุณค่าและเกิดประโยชน์ในการต่อยอดไปสู่การใช้งานจริงเสริมให้นักเรียนเกิดทักษะการคิด การแก้ปัญหา การทำงานเป็นทีม อันเป็นทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 และเรียนรู้ผ่านกระบวนการทำโครงงาน
นอกจากนี้ครูผู้สอนสามารถนำความรู้ด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ไปขยายผลการจัดการ เรียนการสอนโค้ดดิ้ง พร้อมทั้งจัดอบรมพัฒนาความรู้ให้แก่ครูและนักเรียนพิการตั้งแต่การใช้งานบอร์ด ตลอดจนการจัดการเรียนรู้เพื่อขยายผลความสามารถของ KidBright อย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาใช้สนับสนุนการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของนักเรียนในระดับประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษา ร่วมกับการใช้จินตนาการของนักเรียนเพื่อสร้างสิ่งประดิษฐ์โดยใช้แนวคิดและตรรกะการแก้ปัญหาตามหลักวิทยาศาสตร์ ต่อไป
สำหรับกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการดังกล่าว นำทีมโดย ดร.เสาวลักษณ์ แก้วกำเนิด นักวิจัยอาวุโส พร้อมด้วยทีมวิจัยเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. ซึ่ง ได้อบรมให้ความรู้และสอนการลงมือปฏิบัติเรื่องการพัฒนาโครงงานสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัวด้วย KidBright AI Platform ให้กับเหล่าเยาวชน
นอกจากนี้การอบรมยังมีการให้ความรู้เรื่อง รู้จักกับ BCG Economy Model และแนวคิดในการออกแบบโครงงานสิ่งประดิษฐ์ที่เกี่ยวข้องกับ BCG Economy Model โดย นางฤทัย จงสฤษดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู สวทช. กิจกรรมการจัดทำโครงงานสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัวด้วยบอร์ด KidBright AI ภายใต้หัวข้อ “BCG Economy Model” โดยนายจิระศักดิ์ สุวรรณโณ ที่ปรึกษาโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ และ นางสาวอลิสา สุวรรณรัตน์ นักวิชาการอาวุโส สวทช. ซึ่งแต่ละกิจกรรมตลอด 4 วัน นักเรียนพิการและครู มีส่วนร่วมในกิจกรรมเป็นอย่างดี สามารถทำกิจกรรมและนำเสนอโครงงานได้อย่างเข้าใจ ซึ่งจะช้วยสร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนาการเรียนรู้และเพิ่มพูนทักษะด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมแก่ผู้เข้าอบรม และเป็นทักษะจำเป็นในโลกยุคศตวรรษที่ 21 แก่นักเรียนพิการให้สามารถรู้เท่าทันและพัฒนาตนศักยภาพของตนเองได้ทันกระแสโลกต่อไป
ที่มาภาพ/ข้อมูล : https://www.nstda.or.th/home/news_post/kidbright-ai-platform-2023/