ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กฤติยา ดวงมณี คณะพาณิชยศาสตร์และการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง เปิดเผยว่า วิทยาเขตตรังได้ดำเนินการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับอาหารพื้นถิ่นตรังโครงการ “ภูมิปัญญาอาหารจีนท้องถิ่นในเมืองตรัง: อาหารจีนและความเสี่ยงในการสืบทอดในชุมชน”ภายใต้ชุดโครงการบูรณาการ “การใช้นวัตกรรมพัฒนาภูมิปัญญาอาหารจีนท้องถิ่นเมืองตรังและการจัดการความเสี่ยงสู่ธุรกิจอาหารเชิงพาณิชย์”เพื่อรวบรวมและศึกษาภูมิปัญญาอาหารจีนท้องถิ่นตรังเพื่อพัฒนากระบวนการแปรรูปในเชิงพาณิชย์ และเพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงในการอนุรักษ์อัตลักษณ์อาหารจีนท้องถิ่นโดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และด้วยความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญในด้านอาหารจีนและผู้ประกอบการอาหารจีนท้องถิ่นในจังหวัดตรัง
การวิจัยภูมิปัญญาอาหารจีนท้องถิ่นในเมืองตรัง และการศึกษาเพื่อพัฒนากระบวนการแปรรูปในเชิงพาณิชย์ในครั้งนี้ เชื่อมโยงได้กับคำกล่าวที่ว่า “อาหารเป็นประตูบานใหญ่ ที่นำไปสู่การเรียนรู้เรื่องราว วิถีชีวิตวัฒนธรรมของผู้คน เพราะอาหารเป็นประเด็นที่สามารถเชื่อมโยงได้กับทุกๆ เรื่อง” ซึ่งจังหวัดตรังได้รับการขนานนามว่าเป็น “เมืองแห่งการกิน” เพราะมีประชากรที่สามารถจัดสรรทรัพยากรและวัตถุดิบเพื่อใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารประเภทต่าง ๆ ได้อย่างหลากหลาย ซึ่งเกิดจากวัฒนธรรมการบริโภคของชาวจีนที่ได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานแต่ในอดีต ทั้งชาวจีนฮกเกี้ยน ชาวจีนกวางตุ้ง ชาวจีนแต้จิ๋ว ชาวจีนแคะ และชาวจีนไหหลำ ที่ได้นำเอาวิธีการปรุงอาหารและสูตรอาหารจากบรรพบุรุษแผ่นดินเกิด ซึ่งล้วนมีความหลากหลาย มีประโยชน์ต่อสุขภาพ น่ารับประทาน และได้มีการดัดแปลงให้เข้ากับถิ่นฐานใหม่
จากการทำวิจัยภูมิปัญญาอาหารจีนท้องถิ่นและการพัฒนากระบวนการแปรรูปดังกล่าว จะทำให้ชุมชนในจังหวัดตรังได้มีส่วนร่วมในการถ่ายทอดภูมิปัญญาอาหารจีนท้องถิ่น เกิดการเรียนรู้ระบบการผลิตอย่างละเอียด ซึ่งเป็นการสร้างต้นแบบไว้ในพื้นที่เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดวิชาการและเทคโนโลยีอย่างยั่งยืนในชุมชน นอกจากนี้ ชุมชนได้ตระหนักถึงการใช้กระบวนการวิเคราะห์ความเสี่ยงเพื่อคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์อาหารจีนท้องถิ่นของตนเอง และมีหน่วยงานที่สามารถนำผลการวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ได้ อาทิ สถาบันการศึกษาต่าง ๆ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นต้น
นอกจากนั้น จากการดำเนินงานวิจัยดังกล่าว ยังทำให้เกิดการขยายผลในรูปแบบงานบริการวิชาการที่สำคัญ 3 โครงการ คือ 1.โครงการ U2T for BCG ระยะที่ 2 “โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์และระบบเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจหมุนเวียนระดับตำบล ในจังหวัดตรัง” ใน 5 ตำบล ประกอบด้วย ตำบลนาตาล่วง ตำบลนาโต๊ะหมิง ตำบลบางรัก ตำบลบ้านควน ตำบลหนองตรุด 2. โครงการ U2T for BCG ระยะที่ 3“โครงการไม้กวาดเรียกทรัพย์ ตำบลบ้านควน จังหวัดตรัง” (ไม้กวาดจากขวดพลาสติก) และ 3. โครงการ “กิจกรรมยกระดับกลุ่มเกษตรกรเป้าหมายด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ต้นแบบ และทดสอบผลิตภัณฑ์ ภายใต้โครงการค่าใช้จ่ายแปรรูปสินค้าและเกษตรอุตสาหกรรม 1 จังหวัด 1 ชุมชน” (โครงการ OPOAI-C) สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง กระทรวงอุตสาหกรรม
ที่มาภาพ/ข้อมูล : https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG231012205527158