นายกรัฐมนตรีขอบคุณภาครัฐ-เอกชน ร่วมขับเคลื่อนเป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอน พัฒนาศักยภาพการกักเก็บคาร์บอนฝั่งอันดามัน พร้อมผลักดัน ‘จังหวัดกระบี่’ นำร่องเมืองท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ขอบคุณความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการพัฒนาศักยภาพการกักเก็บคาร์บอนของป่าชายเลนและหญ้าทะเล บริเวณภาคใต้ฝั่งอันดามัน และความร่วมมือเพื่อผลักดันการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการท่องเที่ยว นำร่องจังหวัดกระบี่ เป็นเมืองท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2583 เป็นจังหวัดแรกของประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องและสนับสนุนการดำเนินการตามเป้าหมายของไทยที่ได้ประกาศไว้ ในการมุ่งสู่การเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2608
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการประเมินศักยภาพการกักเก็บคาร์บอนสีน้ำเงิน (Blue Carbon) ของป่าชายเลนและหญ้าทะเลที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ รวมถึงที่ได้รับการฟื้นฟูบริเวณภาคใต้ฝั่งอันดามัน พร้อมทั้งจัดกิจกรรม Capacity Building สร้างจิตสำนึกให้แก่ชุมชน และสร้างการมีส่วนร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ในการดูแลและฟื้นฟูระบบนิเวศชายฝั่ง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอน นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาต้นแบบแพลตฟอร์มภูมิสารสนเทศและปัญญาประดิษฐ์ ในการติดตามการเปลี่ยนแปลงคาร์บอนร่วมกับเทคนิคการรับรู้ระยะไกล (Remote Sensing) เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เกิดเครือข่ายอนุรักษ์พัฒนาสิ่งแวดล้อมชายฝั่งอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม
ความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน จำนวน 22 หน่วยงาน ด้านการท่องเที่ยวระดับประเทศและจังหวัด ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือภาคีเครือข่ายในการขับเคลื่อน Krabi Carbon Neutral Tourism 2040 พร้อมประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อนจังหวัดกระบี่เป็นเมืองท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2583 เป็นจังหวัดแรกของไทย โดยเน้นการเพิ่มขีดความสามารถการจัดการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ให้หน่วยงาน ผู้ประกอบการ ชุมชน นักท่องเที่ยว และแหล่งท่องเที่ยว พร้อมขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยตามแนวนโยบายเศรษฐกิจ BCG เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ครอบคลุมทุกมิติ คำนึงถึงความสมดุลระหว่างการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันโลกตระหนักดีถึงความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม โดยประเทศไทยมีบทบาท และเป็นส่วนหนึ่งในเวทีโลกที่แสดงความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหานี้อย่างสมดุล ยั่งยืน พร้อมกันนี้ รัฐบาลขับเคลื่อนนโยบายที่สอดคล้อง พร้อมบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและการตระหนักรู้ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ร่วมกับนโยบายที่เหมาะสมของรัฐบาล จะช่วยสนับสนุนให้ไทยสามารถบรรลุตามเป้าหมายได้อย่างแน่นอน
ที่มาข้อมูล : https://www.facebook.com/PMOCNEWS/posts/pfbid02B51QbpemfmePUPkFs3AFJ3oDQCYuTdCbuycWu5JvvJS7jT2zcTrHJLEQkCc6M3Uel