Search
Close this search box.

มรภ.อุดรธานีมอบปัจจัยการผลิตแกร่งชุมชนกลุ่มวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup)

share to:

Facebook
Twitter

มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี เสริมสร้างความเข้มแข็งกลุ่มวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) กลุ่มอาชีพในชุมชน หลังโควิดคลี่คลาย ด้วยองค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ภายใต้ แนวคิดการพัฒนาท้องถิ่นอย่างมั่นคงตามแนวทางเศรษฐกิจ BCG

วันที่ 19 มิถุนายน 2566 ที่หน้าหอประชุมทองใหญ่ ศาลากลางจังหวัดอุดรธานี นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เป็นประธานมอบปัจจัยการผลิต “โครงการฟื้นฟู เตรียมความพร้อม และเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) กลุ่มอาชีพในชุมชน หลังสถานการณ์โควิด-19 ด้วยองค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ภายใต้แนวคิดการพัฒนาท้องถิ่นอย่างมั่นคงตามแนวทางเศรษฐกิจ BCG” โดยมีนายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นายสามารถ หมั่นนอก ปลัดจังหวัดอุดรธานี นายอเนก รัตน์รองใต้ เกษตรจังหวัดอุดรธานี นางขนิษฐา โกวิทยากร เกษตรและสหกรณ์จังหวัดอุดรธานี นายธนพล กองทรัพย์ไพศาล ประธานหอการค้าจังหวัดอุดรธานี นายบัญชา กันหาสินธุ์ ประชาสัมพันธ์จังหวัดอุดรธานี หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เอกชน ร่วมงาน

ดร.เอกราช ดีงาม รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานีได้ดำเนิน “โครงการฟื้นฟู เตรียมความพร้อม และเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) กลุ่มอาชีพในชุมชน หลังสถานการณ์โควิด ด้วยองค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมภายใต้ แนวคิดการพัฒนาท้องถิ่นอย่างมั่นคงตามแนวทางเศรษฐกิจ BCG” ระหว่างวันที่ 14 มีนาคม ถึง 30 กันยายน 2566 เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพในชุมชน สร้างอาชีพ สร้างรายได้แก่ชุมชน ในเขตจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สร้างต้นแบบกลุ่มวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) กลุ่มอาชีพในชุมชนในการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาฐานข้อมูลเศรษฐกิจชุมชนของกลุ่มวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) กลุ่มอาชีพในชุมชน ในเขตจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และการประเมินผลสำเร็จทางเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนในเขตจังหวัดที่เข้าร่วมโครงการ รูปแบบการดำเนินโครงการฯ

มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ได้จัดกิจกรรมการประชุมชี้แจงและอบรมพัฒนาทักษะอาชีพเพื่อสร้างรายได้แก่ชุมชน จำนวน 6 หลักสูตร ได้แก่ 1) หลักสูตรการผลิตอาหารสัตว์เคี้ยวเอื้องจากวัตถุดิบในท้องถิ่น เพื่อลดต้นทุน และการเพิ่มมูลค่าอาหารสัตว์ 2) หลักสูตรการเลี้ยงปลาดุกและปลาหมอบ่อ ด้วยอาหารสัตว์จากวัตถุดิบในท้องถิ่น 3) หลักสูตรการเลี้ยงหอยในบ่อ และการแปรรูปที่มีคุณค่าและมูลค่าสูง 4) หลักสูตรการเลี้ยงกบบ่อ และการแปรรูปที่มีคุณค่าและมูลค่าสูง 5) หลักสูตรระบบการปลูกพืชมูลค่าสูงแบบปลอดภัยในโรงเรือนอัจฉริยะ 6) หลักสูตรการเลี้ยงด้วงมะพร้าว และกระบวนการสกัดน้ำมันด้วงมะพร้าวเพื่อการค้า หลังการอบรม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ได้จัดกิจกรรมการมอบปัจจัยการผลิต ให้กลุ่มได้นำไปประกอบอาชีพ ตามหลักสูตรที่ได้รับการอบรม

โดยในวันนี้เป็นพิธีมอบปัจจัยการผลิตแก่กลุ่มอาชีพการเลี้ยงกบบ่อ และการแปรรูปที่มีคุณค่าและมูลค่าสูง ซึ่งเป็นครัวเรือนต้นแบบตามโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” และโครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ของสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุดรธานี จำนวน 20 อำเภอๆ ละ 1 กลุ่มๆ ละ 10 คน รวมจำนวน 20 กลุ่ม 200 คน โดยปัจจัยการผลิตที่มอบให้ ประกอบด้วย กระชังเลี้ยงกบ 6 กระชัง, กระชังเลี้ยงแหนแดง 3 กระชัง, อาหารเลี้ยงกบ/กากน้ำตาล สแลนกันแดด เครื่องซีลสุญญากาศ พร้อมถุงซีลสุญญากาศ ตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ และพันธุ์กบ/แหนแดง โดยคาดหวังว่าโครงการนี้จะช่วยยกระดับอาชีพ ที่มีอยู่เดิมในชุมชนให้มีมาตรฐาน ด้วยองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัย ที่ให้ความรู้ ในการสอนวิธีการ และเทคนิคต่างๆ เพื่อให้กลุ่มอาชีพ ได้นำปัจจัยการผลิตไปสร้างเป็นอาชีพ สร้างรายได้ อย่างมั่นคง และขยายผลในชุมชนต่อไป

ที่มาภาพ/ข้อมูล : https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG230619205401192