รองศาสตราจารย์ ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีรามงคลอีสาน (มทร.อีสาน) นายธนวัฒน์ พลอยโสภณ ที่ปรึกษา มทร.อีสาน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอนก เจริญภักดี รองอธิการบดีฝ่ายยุทธศาสตร์ฯ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นัฐวุฒิ ทิพย์โยธา รองอธิการบดีฝ่ายส่งเสริมฯ อาจารย์สุบรรณ์ ทุมมา ผู้ช่วยอธิการบดีฯ ดร.เสกสรรค์ สุทธิสงค์ อาจารย์วิทยาเขตร้อยเอ็ด ณ ทุ่งกุลาร้องไห้ และคณะผู้บริหาร เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการพิจารณาเรื่องราวขออนุญาตประกอบกิจการ ตามมาตรา 9 แห่งประมวลกฏหมายที่ดิน จังหวัดร้อยเอ็ด ณ ห้องประชุมข้าวหอมมะลิ ศาลากลางจังหวัดร้อยเอ็ด โดยมี นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธานการประชุม และมีคณะกรรมการฯ หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง
สืบเนื่องมาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ได้เสนอเรื่องกับจังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อขอใช้พื้นที่สาธารณะประโยชน์ แปลง “ที่ทำเลเลี้นงสัตว์ดอนเหล่าข้าวสาธารณประโยชน์” ณ ตำบลหินกอง อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด บางส่วน เนื้อที่ 1,647 ไร่ 31 ตารางวา เพื่อก่อสร้างจัดตั้ง มทร.อีสาน วิทยาเขตร้อยเอ็ด ณ ทุ่งกุลาร้องไห้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายโอกาสด้านการศึกษาแก่ประชาชนในพื้นที่ ทั้งยังเป็นแหล่งการศึกษา วิจัย พัฒนา ถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิต การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร และเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้ สำหรับการขอเข้าใข้พื้นที่ของ มทร.อีสาน ได้มีการจัดทำประชาพิจารณ์ร่วมกับ หน่วยงานและประชาชนในพื้นที่ และได้มีประกาศเรื่องการขอเข้าใช้พื้นที่สาธารณะไปยังช่องทางต่างๆ เป็นระยะเวลา 30 วันแล้ว ซึ่งไม่มีผู้ยืนเรื่องโต้แย้งหรือคัดค้านการขอเข้าใช้ พร้อมกันนี้ ทางจังหวัดร้อยเอ็ดได้มีการแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบ ซึ่งผลปรากฏว่า หน่วยงานราชการได้ตรวจสอบและให้ความเห็นให้การสนับสนุนและไม่มีข้อขัดข้องครบทุกหน่วยงานแล้ว ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาและมีมติให้ความเห็นชอบอนุญาตให้ใช้พื้นที่ดังกล่าวตามที่เสนอขอ
ทั้งนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดี มทร.อีสาน เปิดเผยว่า ตามที่ มทร.อีสาน ได้มีการตั้งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตร้อยเอ็ด ณ ทุ่งกุลาร้องไห้ นั้น มทร.อีสาน มีความมุ่งหวังว่า มหาวิทยาลัยฯ จะเป็นหน่วยวิจัยและพัฒนา พร้อมเชื่อมประสาน (System Integrator) กับภาคีเครือข่ายในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้อย่างเหมาะสมกับพื้นที่ เป็นกลไกในการพัฒนาพลิกฟื้นทุ่งกุลาร้องไห้ให้กับพี่น้องประชาชน เพื่อให้เกิดการพัฒนาเชิงพื้นที่ ให้เป็น “เขตเศรษฐกิจพิเศษ-เศรษฐกิจพอเพียง” เศรษฐกิจสร้างคุณค่า อย่างยั่งยืน โดยการนำองค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy : SEP) สู่การ พัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) และหลักการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพเศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (Bio – Circular – Green Economy : BCG Model) มาเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนการยกระดับศักยภาพและพัฒนาพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ในทุกมิติ
ที่มาภาพ/ข้อมูล : https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG230210210057166