วันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 เวลา 8 นาฬิกา 17 นาที สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังอาคารเรียนรวม สถาบันวิทยสิริเมธี อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันวิทยสิริเมธี ประจำปีการศึกษา 2565 ระดับปริญญาเอกและปริญญาโท รวมจำนวน 35 คน พระราชทานทุนการศึกษา “ศรีเมธี” แก่นิสิตที่มีผลการเรียนระดับดีเยี่ยม จำนวน 4 คน และพระราชทานประกาศนียบัตรแก่ผู้แทนนักเรียนโรงเรียนกำเนิดวิทย์ ที่สำเร็จการศึกษา จำนวน 2 คน
สถาบันวิทยสิริเมธี หรือ VISTEC (วิส-เทค) มุ่งเน้นการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสต์และเทคโนโลยี สร้างนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ โดยมีศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นแนวหน้ารองรับการทำงานวิจัยเชิงลึก ให้นิสิตสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่เป็นงานวิจัยในระดับสากล
สำหรับโรงเรียนกำเนิดวิทย์ จัดการเรียนการสอนด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยปีการศึกษา 2565 มีนักเรียนสำเร็จการศึกษา จำนวน 69 คน
ในการนี้ พระราชทานพระราโชวาท ความสำคัญตอนหนึ่งว่า ” บัณฑิตเมื่อจบการศึกษา บางคนอาจจะศึกษาต่อ บ้างก็ไปทำอาชีพการงาน แต่ไม่ว่าจะทำสิ่งใด ทุกคนอย่าได้ละทิ้งความอุตสาหะ ความพากเพียรพยายามในทางสุจริต ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จทั้งในหน้าที่การงานและการดำเนินชีวิต เมื่อเกิดปัญหาใดๆ ก็ให้วิเคราะห์ถึงสาเหตุให้รอบด้าน มีเหตุมีผลและใช้ความรู้ที่เล่าเรียนมาในการแก้ไข ประการหนึ่งที่จะละทิ้งไม่ได้ คือต้องหมั่นศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม หมั่นฝึกฝนตนเองอยู่เสมอ เป็นการพัฒนาตนเอง หากทำได้ดังนี้ก็จะประสบผลสำเร็จ ผลของงานเป็นประโยชน์แก่ตนเอง แก่ผู้อื่น หรือสังคมส่วนรวม ”
จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยัง สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันวิทยสิริเมธี เปิดการเรียนการสอนหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต และหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต เน้นสร้างบุคลากรให้เป็นผู้นำด้านงานวิจัยทางเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ปีการศึกษา 2564 ถึง 2565 มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารชั้นนำถึง 58 ฉบับ ได้รับการยอมรับด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ในระดับนานาชาติและยังสนับสนุนทุนวิจัยที่เป็นประโยชน์แก่สังคม
โอกาสนี้ ทรงเปิดห้องปฏิบัติการวิจัย Wangchan Advanced Industrial Labs (วังจันทร์ แอดวานซ์ อินดัสเทรียล แล็ป) ซึ่งมีห้องปฏิบัติการวิจัยอุตสาหกรรม เทคโนโลยีเซนเซอร์ ปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์
ต่อจากนั้น ทอดพระเนตร ผลงานของกลุ่มวิจัย Interfaces Lab (อินเตอร์เฟซ แล็ป) ที่เกิดจากการรวมกลุ่มของนักวิจัยไทย ที่ได้วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อลดช่องว่างระหว่างมนุษย์และเครื่องจักร โดยเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีด้านสุขภาพแห่งอนาคตที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI สำหรับปรับปรุงบริการด้านสุขภาพ อาทิ
โครงการปัญญาประดิษฐ์ตรวจจับเซลล์มะเร็งต่อมน้ำเหลืองจากภาพถ่ายเนื้อเยื่อย้อมสี ที่ชื่อว่า Pseudo-cell (ซูโดเซล) ซึ่งผู้วิจัยได้พัฒนาระบบขึ้นมาใหม่ เพื่อวินิจฉัยตรวจจับเซลล์มะเร็งที่แม่นยำและรวดเร็วกว่าระบบเดิม
โครงการ B -Sense เทคโนโลยีติดตามคุณภาพการหายใจขณะนอนหลับ โดยมีระบบปัญญาประดิษฐ์ในการคัดกรองกลุ่มผู้ที่มีปัญหาการนอน ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของสถาบันวิทยสิริเมธี โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลปัตตานีและธนาคารไทยพาณิชย์
และผลงานของกลุ่มวิจัย Brain Lab เป็นโครงการที่ผ่านการทดสอบและใช้ได้จริง อาทิ
“โครงการ Hero” ที่พัฒนาระบบหุ่นยนต์ ชนิดควบคุมระยะไกล ใช้สำหรับตรวจสอบภายในถังบรรจุปิโตรเลียมและแก๊สธรรมชาติ ช่วยลดขั้นตอนการตรวจสอบและลดความเสี่ยงจากอันตรายต่อเจ้าหน้าที่
“โครงการ Black Mirror” หรือเทคนิคการควบคุมการเคลื่อนไหวแบบใหม่ สำหรับหุ่นยนต์มีขา หรือหุ่นยนต์แมลง ที่สามารถเดินด้วยตัวเองได้ ประยุกต์ใช้ในการสำรวจและตรวจท่อส่งก๊าซใต้ทะเล และ“ระบบควบคุมโดรนอัตโนมัติ” เพื่อหลบหลีกสิ่งกีดขวาง สำหรับใช้ในการสำรวจพื้นที่ ขนส่งวัตถุ รวมถึงงานที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ
จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงเรือนสาธิตเทคโนโลยีชีวภาพ ทอดพระเนตรโครงการเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อ Net Zero เกษตรยั่งยืนและอาหารปลอดภัย โดยทีมวิจัยของสำนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล สถาบันวิทยสิริเมธี ร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชน พัฒนาองค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยให้เกิดเป็นนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและขยายผลได้อย่างยั่งยืน ได้แก่
ด้าน Net Zero จัดทำระบบถังหมักก๊าซชีวภาพและสารบำรุงพืชชีวภาพประสิทธิภาพสูงเพื่อการพัฒนาเมืองและชุมชนที่ยั่งยืน หรือถังสุดดี (SUZDEE Digestant System) สามารถผลิตก๊าซชีวภาพ เพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทนก๊าซหุงต้ม ผลิตสารบำรุงพืชชีวภาพแก้ไขปัญหาจัดการขยะอย่างครบวงจร
ด้านเกษตรยั่งยืน ผลิตสารบำรุงพืชชีวภาพไบโอวีส โดยใช้เทคโนโลยีการหมักแบบไร้ออกซิเจนด้วยหัวเชื้อจุลินทรีย์จำเพาะสูง เป็นสารบำรุงพืชชีวภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ด้านอาหารปลอดภัย นำนวัตกรรมเทคโนโลยีลูมอส ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ย่อยสลายได้ มาตรวจวัดสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพื่อแก้ไขปัญหา สารเคมีปนเปื้อนในดิน แหล่งน้ำและผลิตผลทางการเกษตร
โครงการสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนอุตสาหกรรมชีวภาพและชุมชนที่ยั่งยืน ณ จังหวัดน่าน เพื่อให้เป็นชุมชนตัวอย่างในการจัดการทรัพยากรป่าไม้และสิ่งแวดล้อม โดยใช้องค์ความรู้และนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อาทิ ปงสนุกโมเดล ชุมชนปลอดการใช้สารเคมีในการเกษตร สร้างเทคโนโลยีสนับสนุนการปลูกสมุนไพรและผลิตสารที่มีฤทธิ์ทางยาทดแทน
และการทดสอบสารบำรุงพืชชีวภาพเพื่อการปลูกสมุนไพร ซึ่งตรวจวัดได้แม่นยำ รวดเร็ว เป็นประโยชน์กับกระบวนการผลิตและควบคุมคุณภาพในระดับอุตสาหกรรม เช่น ชุดตรวจปริมาณสารสำคัญในขมิ้นชันด้วยวิธีทางเคมีไฟฟ้า
เวลา 13 นาฬิกา 1 นาที เสด็จพระราชดำเนินไปยังศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ทอดพระเนตรความก้าวหน้าการดำเนินงานด้านนวัตกรรมของวังจันทร์วัลเล่ย์และกลุ่มธุรกิจใหม่ ปตท. อาทิ นวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี พุทธศักราช 2593
นิทรรศความก้าวหน้าของนวัตกรรมด้านต่างๆ อาทิ
– ด้าน Life Science หรือ ชีววิทยาศาสตร์ ดำเนินธุรกิจยา ธุรกิจเทคโนโลยีทางการแพทย์ ธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ
ด้าน AI & Robotics (เอไอ โรโบติกส์) เช่น เทคโนโลยีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและส่งเสริมสังคมคาร์บอนต่ำ เทคโนโลยีส่วนประกอบของรถยนต์อัจฉริยะยานยนต์ขับขี่อัตโนมัติ หุ่นยนต์บริกร ทำความสะอาด ตลอดจนเทคโนโลยีการสำรวจข้อมูลระยะไกลและปัญญาประดิษฐ์ในการดำเนินงานภาคป่าไม้แบบครบวงจร
ด้าน EV Ecosystem หรือนวัตกรรมเพื่อยานยนต์ไฟฟ้า สร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร ตั้งแต่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนประกอบ การทดลองใช้งานและการสร้างโครงข่ายสถานีชาร์จ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านยานยนต์ไฟฟ้าระดับโลก
การสาธิตอุปกรณ์นวัตกรรมของผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนสำหรับระบบกักเก็บพลังงาน ที่สามารถนำไปใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ
และที่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า รุ่น Eco ซึ่งเป็นรุ่นพื้นฐานสำหรับติดตั้งใช้งานในที่พักอาศัยและรุ่น Smart ที่สามารถสั่งงานผ่านแอปพลิเคชัน เหมาะให้บริการในที่สาธารณะ
เวลา 17 นาฬิกา 12 นาที เสด็จพระราชดำเนินไปยังศูนย์เรียนรู้เกษตรนวัต ซึ่งสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ร่วมกับ “บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)” ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพด้านการศึกษาและวิจัยทางการเกษตรทุกมิติ มี“โรงเรือนอัจฉริยะ” เพื่อให้ความรู้แก่นักเรียนและเกษตรกร โดยมีหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เข้ามาถ่ายทอดความรู้ นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้นักเรียน มีทักษะอาชีพ อาทิ การแปรรูปเห็ด การทำไข่มุกจากน้ำสมุนไพรและการทำข้าวต้มผัด
โอกาสนี้ทรงฟังบรรยายสรุปจากหน่วยงานต่างๆ ที่เข้ามาสนับสนุนกิจกรรมของหลักสูตรสาขาวิชาเกษตรนวัต อาทิ กรมวิชาการเกษตร ที่เข้ามาจัดสรรแปลงไม้ผลเศรษฐกิจ มะม่วงพระราชทาน พันธุ์น้ำดอกไม้สีทอง มะม่วงอกร่องทอง และแปลงกาแฟให้มีการเจริญเติบโตที่ดี ตลอดจนการแปรรูปผลผลิตให้ได้คุณภาพ
นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตร ได้ทดลองปลูกผักในโรงเรือนอัจฉริยะ โดยเกษตรกรเข้ามามีส่วนร่วม สามารถปลูกผักได้ตลอดทั้งปีและศูนย์เรียนรู้เกษตรนวัต ยังได้ทดลองปลูกผักที่มีมูลค่า และเป็นที่นิยมในตลาด อาทิ อะโวคาโด บัตเตอร์นัท โกโก้ และเห็ดเยื่อไผ่ ช่วยให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชน มีรายได้เพิ่มขึ้น มีระบบเกษตรอัจฉริยะ หรือเครื่องวิเคราะห์ธาตุอาหารในดิน สามารถบำรุงดิน ให้พืชเจริญเติบโตอย่างเหมาะสม รวมทั้งมีปราชญ์ชาวบ้าน เข้ามาถ่ายทอดความรู้การปลูกกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้า เมล็ดกาแฟสดแปรรูปเจ้าแรกและเจ้าเดียวของอำเภอวังจันทร์ ภายใต้แบรนด์ คินทร์ ช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ มีตลาดรับซื้อ สร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง
จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังอาคารรัตนเกษตร ทรงฟังการบรรยายการจัดกิจกรรม “ค่ายส่งเสริมเกษตรนวัตด้านการใช้โดรนเพื่อการเกษตร” จาก บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ที่จัดอบรมให้ความรู้และทักษะในการใช้โดรนเพื่อการเกษตร แก่ครู นักเรียนและนักศึกษา ของสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา จำนวน 3 รุ่น
โอกาสนี้ บริษัท อีซี่ (2018) จำกัด น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายโดรนเพื่อการเกษตร เพื่อใช้ ในการฝึกอบรมของสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา
ในการนี้ มีพระราชดำรัส แก่คณะผู้บริหารสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดาและหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนด้านต่างๆ ของศูนย์เรียนรู้เกษตรนวัต เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป
ที่มาภาพ/ข้อมูล : https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG231108132735973