นายวิทยา แก้วมี รองอธิบดีกรมชลประทาน และคณะ ลงพื้นที่ติดตามโครงการชลประทานอัจฉริยะ ในพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลบน โดยมี นายณรงค์ มัดทองหลาง ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาและบำรุงรักษามูลบน และ ผศ.ดร.ธัชชัย ชื่นชม บรรยายสรุปโครงการฯ พร้อมพบปะเกษตรกรสาธิตการควบคุมการใช้โดรนเพื่อการเกษตร การทำนาเปียกสลับแห้ง และการเปิดน้ำเข้าระบบแปลงนาด้วยระบบ SCADA
นายวิทยา แก้วมี รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้กำหนดนโยบายมุ่งเน้นการทำงานภายใต้แผนยุทธศาสตร์กรมชลชลประทาน 20 ปี (พ.ศ. 2561- 2580) ที่มีเป้าหมายให้กรมชลประทานเป็น “องค์กรอัจฉริยะ ที่มุ่งสร้างความมั่นคงด้านน้ำ (Water Security) เพื่อเพิ่มคุณค่าการบริการ ภายในปี 2580” ซึ่งการนำพากรมชลประทานให้เป็นองค์กรอัจฉริยะได้นั้น ต้องดำเนินการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงาน โดยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้ เช่น เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพทันสมัยต่อบริบทและสถานการณ์ในอนาคต เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำ โดยเฉพาะด้านเกษตรกรรม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล BCG Model ที่มีเป้าหมายให้ภาคการเกษตรมีผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้น และมาตรฐานสินค้าเกษตรสูงขึ้น
ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้นำร่องโครงการชลประทานอัจฉริยะในพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลบน จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบจัดการการเพาะปลูกอัจฉริยะ หรือ SMART FARM ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและการบริหารจัดการน้ำด้วยระบบ Internet of thing (IoT) พร้อมดำเนินการจัดรูปแปลงของเกษตรกรและปรับปรุงระบบส่งน้ำในไร่นาให้เป็นแบบอัตโนมัติ เพื่อบริหารจัดการน้ำและปุ๋ยสำหรับพืชตลอดฤดูกาลเพาะปลูก ในพื้นที่จัดการน้ำเพื่อการเกษตรนำร่อง 337 ไร่ ตามแนวคิดการจัดการน้ำแบบองค์รวม (Total Water Management) ที่เน้นถึงการจัดการตามความต้องการของผู้ใช้น้ำ โครงสร้างพื้นฐานระบบชลประทาน และแหล่งทรัพยากรน้ำในพื้นที่ รวมถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ กรมชลประทานได้ส่งเสริมการทำนาแบบเปียกสลับแห้งในพื้นที่ ซึ่งจะสามารถช่วยลดต้นทุนในการใช้น้ำลงได้ประมาณ 30-50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจากการดำเนินการในพื้นที่โครงการนำร่อง กรมชลประทานมีแผนงานที่จะขยายผลไปสู่ทุกพื้นที่ชลประทาน เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเดิมของกรมชลประทาน โดยใช้เทคโนโลยีการวัดระยะไกลและระบบ IoT เพื่อช่วยในการควบคุมปริมาณน้ำ ส่งเสริมประสิทธิภาพการใช้น้ำตั้งแต่หัวงานชลประทานไปจนถึงแปลงเพาะปลูกของเกษตรกร เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำในภาคการเกษตรต่อไปในอนาคต และสร้างรายได้ให้เกษตรกรสูงขึ้น 3 เท่าภายใน 4 ปี
ที่มาภาพ/ข้อมูล : https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG231013234003676